ตร.อ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.คุมตัว 5 เครือข่ายสลัมปล่อยลูกโป่ง ทั้งที่แจ้งขออนุญาตตามพ.ร.บ.ชุมนุมแล้ว

2 ก.ค.59 ที่บริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนงานรังสิต และชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง “รณรงค์ไม่ผิด” เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 7 นักศึกษา-นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากการแจกเอกสารมีเนื้อหาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้จัดมีการขออนุญาตจัดกิจกรรมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก่อนแล้ว แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ควบคุมตัวแกนนำเครือข่ายสลัมจำนวน 5 คนไปสน.หัวหมาก ก่อนถูกสอบปากคำและปล่อยตัว โดยไม่แจ้งข้อหา

ตั้งแต่ก่อนเวลา 11.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมากมาควบคุมดูแลบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาบริเวณลานพ่อขุน ผู้ร่วมกิจกรรมราว 40 คน ได้นำลูกโป่ง และป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “รณรงค์ไม่ผิด” และ “Free Fair Referendum ปล่อย 7 นักโทษประชามติ” มารวมตัวกัน พร้อมกับได้มีการอ่านแถลงการณ์

นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แถลงเรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมขังเนื่องจากทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และร่วมทำกิจกรรมเรื่องปัญหาชุมชนเมืองกันมาก่อน จากนั้นนายสุพัฒน์ อาษาศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา และเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

2

13599873_1762568413961923_4432217563520240859_n

13533049_1762568500628581_6496668992215697194_n

ภาพกิจกรรมปล่อยลูกโป่งที่ลานพ่อขุน และเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท และเพจพิราบสื่อสาร)

แต่ก่อนหน้านายสุพัฒน์จะเริ่มอ่านแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามเข้าห้ามไม่ให้อ่าน และพยายามยื้อแย้งแถลงการณ์ไป ก่อนกลุ่มผู้จัดจะมีการเจรจาให้นายสุพัฒน์ได้อ่านแถลงการณ์จนจบได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง กับนางนุชนารถและผู้จัดกิจกรรมจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อนระบุขอเชิญตัวไปสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก

สำหรับผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 5 ราย เป็นนักกิจกรรมในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แก่ นางนุชนารถ แท่นทอง, นางหนูเกณ อินทจันทร์, นางทองเชื้อ วระชุน, น.ส.วิมล ถวิลพงษ์, น.ส.อำไพร รมยะปาน โดยระหว่างถูกควบคุมตัวมีประชาชนจากเครือข่ายสลัม กลุ่มคนงาน และนักศึกษาติดตามไปให้กำลังใจที่สถานีตำรวจหลายสิบคน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 5 คนไว้ โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ นอกจากนั้นยังมีการให้ลงบันทึกประจำวันไว้ มีข้อความระบุส่วนหนึ่งว่า “บุคคลทั้ง 5 สัญญาจะมาพบพนักงานสอบสวนโดยทันที หากพนักงานสอบสวนเรียกพบ” ก่อนเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวทั้ง 5 คน ในเวลาประมาณ 14.00 น.

11

หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ที่ทางผู้จัดกิจกรรมแจ้งต่อหัวหน้าสน.หัวหมาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 ได้มีการทำหนังสือแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากแล้ว โดยระบุว่าจะมีกิจกรรมแสดงเจตนารมณ์การรณรงค์ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ที่บริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่เวลา 11.00-12.00 น.ของวันที่ 2 ก.ค. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ในการควบคุมตัวสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไปยังสถานีตำรวจอีก

ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายเก่าสามารถถูกยกเลิกเมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดแจ้งระบุให้ยกเลิก โดยที่กฎหมายใหม่ และกฎหมายเก่า มีบทบัญญัติสำหรับกรณีหนึ่งๆ อย่างเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าไปในตัว เรียกว่า “การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย”

ในกรณีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการผ่านพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.58 ทำให้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 ที่กำหนดเรื่องห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นบทบัญญัติการเรื่องการชุมนุมสาธารณะเช่นเดียวกัน ต้องถือเป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย ตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่จนถึงปัจจุบัน คสช.และเจ้าหน้าที่รัฐกลับยังใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.นี้กล่าวหาและดำเนินการต่อประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเองก็ไม่ได้กำหนดห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแต่อย่างใด  

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติ

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3)

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน”

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน”


ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ New E-Saan Movement
ซึ่งเป็นกิจกรรมการเดินเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตั้งแต่เริ่มกิจกรรมวันที่ 4 มิ.ย.59 ได้มีเจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายภาพการทำกิจกรรมโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และขณะทางกลุ่ม พักผ่อนอยู่ในบริเวณวัดเหล่าโดน ตำบลหนองแคน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และฝ่ายปกครองกว่า 20 นาย เข้ามาบังคับไม่ให้ทางกลุ่มนอนพักในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 พร้อมทั้งสอบถามและบังคับให้แอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ลบคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….หากไม่ลบทางกลุ่มจะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้


การกระทำดังกล่าวทำให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ต้องลบคลิปวีดีโอและภาพการเข้ามาเจรจาของเจ้าหน้าที่ทหารออกจากเพจ และเดินทางออกจากที่พักในเวลาประมาณ 18.30 น.ท่ามกลางความมืดโดยไม่มีจุดหมายว่าจะไปพักค้างคืนที่ใด จนทางกลุ่มต้องเดินเท้าออกจากจุดพักเดิมและปักหลักค้างคืนที่โรงพยาบาลราษีไศลในเวลาประมาณ 22.00 น.ห่างจากจุดเดิมเกือบ 10 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองจะบังคับให้ออกจากพื้นที่ตลอดเวลา


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและกระทำไปโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


1.บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงมีเสรีภาพที่จะแสดงออกรับหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กลุ่มขบวนการอีสานใหม่จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคลิปวีดีโอดังกล่าวในช่องทางของตน เพื่อเรียกร้องและกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย


2.การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่กดดันไม่ให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ และบังคับให้ลบคลิปวีดีโอในเพจขบวนการอีสานใหม่ ถือเป็นการแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)


3. การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องบังคับใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ  ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมไม่ใช่ผลักดันผู้ใช้สิทธิเสรีภาพให้ตกอยู่ในอันตรายมากยิ่งขึ้น การอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อปิดกั้นมิให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ดังกล่าวโดยมิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงเป็นการบังคับใช้ที่ไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน


4.กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าทางกลุ่มกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไล่บุคคลออกจากพื้นที่สาธารณะดังเช่นเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยอำเภอใจและปราศจากอำนาจทางกฎหมายมารองรับ


ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้


เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และมุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบคุกคาม กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ในทันที 


ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม การเคารพซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้นที่จะนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

                                                       ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ                                                            

                                                        ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Downlaodแถลงการณ์ได้ที่นี้Windows 7 printed documentแถลงการณ์กรณี Walk For Rights

ไม่ผิดจะกลัวอะไร : “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง”

คำสั่ง หน.คสช. “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง” Chapter II โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

“เมื่อรั้วของชาติ ทำลายรั้วของประชาชน”

สารคดีว่าด้วยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวประชาชนชาวไทยตามอำนาจที่ได้รับมาจากกฎอัยการศึกจนถึงคำสั่งจากหัวหน้า คสช.จริงหรือไม่ที่ทหารกำลังจะปราบมาเฟียตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

สารคดีชิ้นนี้จะเปิดเผยคำบอกเล่าจากบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจะมาเล่าข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าใครคือ “มาเฟีย” ตัวจริง

พร้อมบทความที่สะท้อนคำบอกเล่าของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ เป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจจาก คสช.ที่เป็นเพียงความชอบธรรมเดียว ทำให้ทหารสามารถควบคุมตัวประชาชนได้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายจับ ขัดกับหลักประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาและมีเสียงสะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศว่า อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

– การควบคุมตัวตามมาตรา 44

“ผมจะถามคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากแค่นั้นแหละ อย่างเช่นถามว่ามาทำแบบนี้กับไปใช้วิธีดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไหนถูกต้องกว่า … ถามทุกคนที่มา ถามเจ้าหน้าที่ทุกคน ระหว่างใช้มาตรา 44 กับไม่ใช้มาตรา 44 แล้วทำแบบนี้ได้ไหม…”

คืนวันที่ 9 มี.ค. 2559 สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ถูกทหารตำรวจอย่างน้อย 30 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวไปจากห้องที่ทำงาน ใน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรศัพท์มือถือของเขา โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบ ไม่มีหมายจับหรือแม้กระทั่งหมายค้น

อาศัยแค่อำนาจตามมาตรา 44 เพียงเท่านั้น เขาก็ต้องไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในค่ายทหารถึง 8 วัน โดยไม่ได้สมัครใจ หรือกระทำผิดกฎหมายใด

อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ว่านี้ ระบุให้ “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

อาจถือได้ว่า อำนาจตามมาตรา 44 ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่แทบจะเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้ซึ่งข้อจำกัด ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มักถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำมาอ้างเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหาร ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารในการตรวจค้น  ยึด  และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน  โดยไม่ต้องมีหมายศาล ใช้เพียงแค่ความสงสัยของทหารเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถกระทำการดังที่ว่านี้ได้


– กรณีควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

สราวุธ บำรุงกิตติคุณ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีผู้แจ้งว่าเขาเป็นพวกหมิ่นสถาบันและรับจ้างทำเพจการเมือง คือเพจ “เปิดประเด็น” ที่สราวุธทำเป็นงานอดิเรกด้วยตนเองคนเดียว ทำให้เขาถูกควบคุมตัวราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ตัวเขาเองไม่ชอบเฮทสปีช ไม่ชอบภาพตัดต่อใส่ร้าย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสถาบันหรือไรก็ตาม

คืนที่ถูกควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่พาสราวุธไปไว้ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต (มทบ.45) ก่อนจะนำตัวขึ้นเครื่องบินมายัง มทบ.11 กรุงเทพมหานคร และถูกกักอยู่ในห้องหน้าต่างปิดทึบ มีทหารเวรคอยเฝ้ากะละสามนาย เขาถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 ก่อนจะถูกส่งตัวกลับมาปล่อยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 16 มี.ค. 2559

“เขาก็พยายามโยง เขาคิดว่ามีต้นสาย ก็พยายามจะโยงให้ได้ เรื่องเครือข่าย ด้วยรูปแบบเพจ ด้วยรูปแบบเนื้อหา ด้วยภาษาที่ใช้ มันทำให้นึกว่ามีคนที่มีความรู้สูง ๆ ที่เรียนจบมาทางด้านกฎหมาย ทางด้านอะไรเป็นทีมงานกันหลายคน และมีการจ้างทำกราฟฟิก มีการจ้างทำทุกขั้นตอนอะไรแบบนี้ ภาพมันดูเหมือนว่าทำกันหลายคน ซึ่งจริง ๆ มันทำคนเดียวก็ทำได้ เขาพยายามถามว่ามีใครร่วมขบวนการบ้าง” สราวุธเล่าถึงการสอบสวนภายใน มทบ.11

ถึงจะไม่มีการทำร้ายร่างกายในกรณีของเขา แต่สราวุธก็ยอมรับว่าถูกข่มขู่ และมีความกังวลใจที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ในระหว่างนั้น

“แต่ว่าขนาดนั้นมันก็คือการจำกัดสิทธิแล้ว คือการจำกัดความเห็น มีข่มขู่ว่าจะให้ขึ้นศาลทหารอย่างนี้ ผมก็ฟุ้งซ่านไปเยอะ”

เป็นเวลากว่า 8 วัน ที่สราวุธถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร โดยไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ เช่นเดียวกับที่ญาติและทนายความต่างถูกปฏิเสธไม่ให้ติดต่อกับสราวุธ ในขณะที่โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่มีข้อมูลการควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

ตลอดระยะเวลา 8 วันนั้น สราวุธกลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือ “อุ้มหาย” ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว และปฏิเสธจะทราบชะตากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)

– กรณีควบคุมตัวแกนนำร้องเรียน เรื่องไล่รื้อบ้านเรือนและพื้นที่ประกอบอาชีพประมงริมชายหาด อ.เมือง จ.ระยอง

หลังการควบคุมตัวสราวุธในอีก 20 วันถัดมา เช้ามืดวันที่ 29 มี.ค. 2559 ชาวระยองสามคนถูกทหารควบคุมตัวจากบ้านพักไปยังค่ายนวมินทราชินี (มทบ.14) จ.ชลบุรี

“โอ๊ย! ทำไมมาเยอะแยะ อย่างกับจับเสือ จับโจร ทหารมาเยอะ หลายคัน เป็นแถวเลยตรงหน้าบ้าน ชาวบ้านก็แตกตื่นออกมาดู ก็ตกใจทหารมาเยอะ”ละม่อม บุญยงค์ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์วันนั้น ก่อนที่ตัวเขา อนันต์ ทองมณี และรังสรรค์ ดอกจันทร์ จะถูกพาตัวไปที่ค่ายมหาสุรสิงหนาท (พัน ร.7) ที่ จ.ระยอง แล้วจึงส่งตัวต่อไปยัง มทบ.14 จ.ชลบุรี

“ถามว่ามาเชิญเรื่องอะไร เขาก็บอกว่ามันมีข่าวมาว่าลุง พวกลุงสามคน จะก่อม็อบ ชวนชาวบ้านทั้งหมดก่อม็อบไล่นายอำเภอ ลุงก็งง มันไม่เคยมีความคิดของลุงที่จะไปก่อม็อบอะไรพวกนี้ แล้วชาวบ้านหยิบมือแค่นี้จะไปก่อม็อบทำไม”

เช่นเดียวกับอนันต์ ทองมณี ที่ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอย่างที่ทหารอ้าง “คือกล้าพูดและกล้าแสดงออก กล้ามีจิตอาสาที่จะทำเพื่อชาวบ้าน คือกล้า ถ้าถามว่าจะกล้าไปก่อม็อบนั่นไม่กล้าหรอก บอกท่าน ผบ. ผมไม่ได้คิดทำอะไรท่านไปสืบดูได้ ไปสืบถามชาวบ้านว่า ณ วันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันไหม รวมตัวไหม ไม่มี”

แม้ปรากฏข้อเท็จจริงดังว่า แต่ทั้งสามคนก็ต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ มทบ.14 หนึ่งคืน และถูกยึดโทรศัพท์ไว้ ก่อนจะปล่อยตัวในเช้าวันถัดมาโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายใด


– การควบคุมตัวที่มีราคาต้องจ่าย

จุดร่วมของสี่คนนี้ คือการถูกจับจากข่าวที่ทหารได้รับ นำตัวพวกเขาไปไว้ในค่ายทหาร และปล่อยตัวออกมาหลังจากพบว่าไม่มีใครทำผิดตามที่ถูกสงสัย

“เรียกว่ามันเกิดความผิดพลาดที่เขา หน่วยข่าวกรองเขา การกรองข่าวเขามันผิดพลาด การกรองข่าวเขาว่าเขาจะต้องได้อะไรที่มันใหญ่โต ได้คนผิดแน่นอนอะไรอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วเขาไปได้เอาประชาชนธรรมดาที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างบริสุทธิ์ใจ สุจริต” สราวุธให้ความเห็น

ไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว เนื้อความที่ผู้นำทหารย้ำผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้งเมื่อถูกถามถึงมาตรการที่นำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านมาตรา 44 เห็นได้ว่า กรณีตัวอย่างทั้งสี่คนนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายใด ๆ ตามมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้

“นอกจากเสียเวลาไป 7-8 วันในการถูกควบคุมตัวแล้วยังต้องมานั่งตั้งสติ เรียกขวัญตัวเองอีก 4-5 วัน แล้วต้องมานั่งเช็คคอมพิวเตอร์อีก 3-4 วันอย่างนี้ กว่าจะเรียกกลับมาได้ก็เสียหายไปเยอะนะ” สราวุธชี้แจงในกรณีของเขา

อดีตแอดมินเพจเปิดประเด็นเล่าว่า คอมพิวเตอร์ของเขาเสียหายในส่วนของเมนบอร์ดและพาวเวอร์ซัพพลาย สายฮาร์ดดิสก์และฮาร์ดดิสก์บางตัวหลุดออกมา คล้ายกับถูกถอดเพื่อรื้อดูข้อมูลในนั้น ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหาย อ่านข้อมูลไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เขาเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ไว้

นอกจากนี้ เขายังถูกบีบให้ต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขของ คสช. เพื่อจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวระบุว่า จะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต ละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ และเมื่อไหร่ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เขายินยอมที่จะถูกดำเนินคดีและถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน อันเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่เพิ่มเติมคือ สราวุธถูกทหารสั่งให้ปิดเพจเปิดประเด็นอีกด้วย

เช่นกันกับที่ระยอง ละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ถูกห้ามรวมตัวกัน หรือไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก

“เขาก็บอกสั่งมาว่า ถ้ามานี่แล้วอย่าไปรวมตัวกันอีก อย่าไปอยู่กับคนหมู่มาก ถ้าเขาถ่ายรูปลุงอยู่ในคนหมู่มากอีก เขาจะเชิญมาอีก ทีนี้จะมาอยู่หลายวัน เขาว่าแบบนั้น” ละม่อมเล่าถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ถูกกำชับมาจากฝ่ายทหาร

อย่างไรก็ตาม ที่ จ.ระยอง นั้นดูเหมือนการควบคุมตัวและตั้งเงื่อนไขของ คสช. จะยิ่งส่งผลกระทบหนัก เมื่อคนที่ถูกควบคุมตัวไปคือหัวหน้าครอบครัว ผู้มีภาระหน้าที่ดูแลอีกหลายชีวิตในบ้าน

“มาจับผมทำไม ทางนี้ก็เดือดร้อนสิ หมึกก็ไม่มีใครไปซื้อ นั่นก็ไม่มีใครไปซื้อ ตาย มันเดือดร้อนนะ ถ้าอยู่สามวัน ครอบครัวผมจะทำไง มีกินไหม ลูกเต้าจะทำไง เพราะว่าเงินต้องอยู่กับผม ตื่นเช้ามาค่าใช้จ่ายอยู่กับผมหมด ทางนี้จะทำไง เอทีเอ็มก็อยู่กับผมหมด จะทำยังไงทีนี้” อนันต์เล่าถึงความร้อนใจระหว่างถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ ทั้งละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ต่างเป็นกลุ่มชาวประมงเรือเล็กและประกอบอาชีพแปรรูปอาหารทะเลริมชายฝั่ง ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่รื้อที่อยู่ของพวกเขาบริเวณชายหาด ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อขอให้รัฐจัดพื้นที่รองรับสำหรับผู้ได้รับผลกระทบเสียก่อน แต่เมื่อมีเงื่อนไขห้ามรวมตัวดังกล่าวแล้ว กระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก็เกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่กล้าคัดค้านอะไรอีกต่อไป


เขาบอกว่าให้ทำตามมติที่ประชุม จับมือทำตามมติที่ประชุมเลย คือรื้อ บอกให้รื้อเลย แล้วห้ามให้เราเข้าไปในที่ที่มีคนมาก ห้ามประชุมชาวบ้านห้ามอะไร เราก็ไม่ทำ เราก็ไม่เคยเข้าไป แม้แต่จะไปงานบวชเขาเรายังไม่ไปเลย กลัวเขาจะมาเชิญเราอีก กลัวเดือดร้อน ไปงานแต่งก็กลัวที่มีคนเยอะ ๆ เพราะเขาห้ามไว้แล้ว” อนันต์เล่าถึงสถานการณ์หลังได้รับการปล่อยตัว

ปัจจุบันนี้ อนันต์อาศัยอยู่ในเพิงผ้าใบที่ทางเทศบาลนำมาตั้งไว้ เนื่องจากบ้านถูกรื้อทำลายตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดของ คสช. ซึ่งนโยบายนี้ได้หอบเอาวิสาหกิจชุมชน ต.ปากน้ำ และธนาคารปูหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณชายหาดอีกด้วย


จะจัดยังไงก็ให้มีที่รองรับให้กับเรามั่ง ให้คนจน ๆ ระบบรากหญ้าได้มีที่ยืน ได้มีที่ทำกิน ไม่ใช่มารื้ออาชีพดั้งเดิมเขา ไม่ใช่ไม่มีที่รองรับอะไรเขาเลย อย่างนี้มันเดือดร้อนครับ มันเดือดร้อน ถามทุกคนได้ บางคนร้องไห้เลย มีภาพทหารมาหิ้ว ร้องไห้ ก็หมดตัวน่ะ คนเราหมดตัวจะทำไง

วันนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ ตามคำสั่งของเทศบาล เขียนไว้ว่าที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ผมก็จำเป็นจะต้องมานั่งกินตรงนี้ นอนกินตรงนี้ เพื่อรออะไร รอให้เขาได้จัดสรร ได้เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็อยากรู้ ท่านจะทนเห็นได้ไหมกับคนที่ถูกล้มล้างอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายต้องมาเป็นอย่างนี้” อนันต์เปิดปากเล่าท่ามกลางเครื่องเรือนและอุปกรณ์ทำกินกองระเกะรกะภายใต้เพิงผ้าใบที่เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน

เวลา สภาพจิตใจ ทรัพย์สิน บ้าน อาชีพ และสิทธิที่จะเรียกร้องชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง คือสิ่งที่เสียหาย หรือถูกทำลายไปหลังการควบคุมตัวทั้งสี่คน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

หากไม่ผิดจะกลัวอะไร คงเป็นคำตอบที่ คสช. อยากจะย้ำกับสราวุธ ละม่อม อนันต์ รังสรรค์ และคนไทยคนอื่นอีกหลายล้านคน เพื่อให้ยังคงสามารถใช้อำนาจควบคุมตัวประชาชนได้ต่อไปไม่รู้จบ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสี่ และอาจมีอีกมากมายนับพันคนที่ถูกควบคุมตัวโดย คสช. เราอาจต้องเริ่มเปลี่ยนคำถามมาเป็นหากปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ ถึงไม่มีความผิด ใครเลยจะกล้าการันตีว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียอะไรไปอีกมากต่อมากเท่าไหร่.

ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ บุญงามอนงค์ 2 เดือน คดีไม่ไปรายงานตัว

photo_2016-06-30_13-06-42

วันนี้ (30 มิ.ย.59) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

………………………………………………………………………………….

photo_2016-06-30_13-05-59

สรุปคำอุทธรณ์ของจำเลย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยสรุปความได้ว่า จำเลยเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า “…เห็นว่า โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวเป็นโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แล้ว โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป แตกต่างไปจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง”

นอกจากนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

2.โจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากบบรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ไปรายงานตัว “โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร” และยังไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวที่ไม่สมควรอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด… ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้  ศาลจึงไม่อาจยกข้อโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บรรดาประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดของ คสช. นับแต่วันที่ยึดอำนาจการปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกประกาศ หรือคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ ได้

ต่อมา 24 พ.ค. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พ.ค. 2557 ถือว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวมีผลต่อจำเลยนับแต่วันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หากจะถือตามประเพณีการปกครองของไทย ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ที่ออกในวันที่ 23 พ.ค. 2557 ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นการออกคำสั่งหรือประกาศก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งหัวหน้า คสช. ในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลย้อนหลัง ซึ่งจำเลยเห็นว่า จะนำมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาปรับใช้กับจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคล โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป ซึ่งขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ของกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นนำข้อกฎหมายในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณารับรองสถานะของ คสช. เพื่อย้อนหลังเอาผิดและลงโทษจำเลย ยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 12 ที่ว่า “บุคคลใดจะถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำหรือเว้นการกระทำใด ๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้”

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 15  ที่ว่า “บุคคลย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ซึ่งในขณะที่กระทำไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายภายใน”

หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 รวมถึงถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากขณะออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับการแต่งตั้ง สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ดังนั้น ขณะออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้น ได้กระทำไปโดยมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยขอเรียนว่า จำเลยมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และจำเลยยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”

ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ที่ว่า “สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนคำสั่งได้ที่นี่

 

 

ย่ำรุ่งที่หมุดคณะราษฎร สู่พลบค่ำในเรือนจำ: ประมวลสถานการณ์สิทธิฯ วัน 84 ปีอภิวัฒน์สยาม

24 มิ.ย.59 เหมือนเช่นทุกปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนเวียนมาถึง วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่สังคมไทยมีการรำลึกถึงวันนี้ในแง่มุมต่างๆ ปีนี้ในโอกาสครบ 7 รอบ หรือ 84 ปี นับจากปี 2475 ก็มีการจัดกิจกรรมหลากหลายประเภท ทั้งกิจกรรมแสดงออกรำลึก กิจกรรมเสวนาวิชาการ หรือการอภิปรายต่างๆ รวมแล้วเกือบ 10 กิจกรรมตลอดวัน กระจายไปในหลายจุด ทั้งที่หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือห้องสมุดสันติประชาธรรม

แต่ภายใต้การควบคุมอำนาจของคสช.มากว่า 2 ปี ทำให้การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ที่เคยเป็นเรื่องปกติกลายเป็น “เรื่องผิดปกติ” เพราะอยู่ภายใต้การปิดกั้นแทรกแซงของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด มิหนำซ้ำ ในปีนี้ ยังมีการจับกุมดำเนินคดีนักกิจกรรม นิสิตนักศึกษา คนงานจากสหภาพแรงงาน รวมแล้ว 20 ราย ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองและต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร สถานการณ์ในหนึ่งวันอันทำให้เห็นสภาวะสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยที่ดูจะสวนทางกับการเป็น “วันเกิด” ของระบอบประชาธิปไตยไทย รายงานต่อไปนี้ประมวลสถานการณ์ตลอดวันอันยาวนานวันหนึ่งสำหรับหลายๆ คน

ความเดิมก่อนเวลาย่ำรุ่ง: ควบคุมตัว 13 นักกิจกรรม NDM-สหภาพแรงงาน ขณะแจกเอกสารโหวตโน

ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. เวลา 17.30 น. ที่บริเวณหลังตลาดสดหมู่บ้านการเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้มีการเข้าจับกุมนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ขณะกำลังแจกแผ่นพับ และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือโหวตโน โดยมีการควบคุมตัวทั้งหมดไปที่สภ.บางเสาธง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

เจ้าหน้าที่ยังได้มีการตรวจยึดเอกสารที่มีการแจก ได้แก่ 1.ใบปลิวขนาดใหญ่โนโหวตหรือโหวตโน 2.หนังสือชื่อเรื่องความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องน่ารู้  3.ใบปลิวขนาดใหญ่ชื่อ “ก้าวข้าม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” 4.เอกสารแนะนำวิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด พร้อมกับโทรโข่ง 1 อัน

photo_2016-06-25_09-20-22

13466450_1026232280759959_4689505060565736853_n

จนช่วงเวลา 2.00 น. พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิ์ประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สภ.บางเสาธง ได้เริ่มทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและทยอยสอบปากคำ โดยในข้อกล่าวหามีการระบุว่า ขณะกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัวแจกเอกสารอยู่นั้น “เจ้าหน้าที่ได้เจรจาให้ยุติ แต่ผู้ต้องหากับพวกยังยืนยันจะดำเนินการต่อไป และแจ้งว่าจะแจกแต่เอกสารที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กกต.แจก เพื่อประชาสัมพันธ์ในการไปร่วมลงประชามติ เอกสารลำดับที่ 4 เท่านั้น แต่กลับแจกเอกสาร รายการที่ 1-3 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารที่รณรงค์ต่อต้านประชามติ” (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

ตั้งแต่ช่วงเวลา 02:00-04:00 น. ผู้ต้องหาที่ตั้งใจจะขอยื่นประกันตัวทั้งหมด 5 คน ได้ทยอยพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติ และสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง ในตอนแรก มีผู้ต้องหา 8 คน ที่ประสงค์จะไม่ยื่นขอประกันตัวเพราะยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปนั้นไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องขอประกันตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด

ต่อมา ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 24 มิ.ย. ขณะทนายความได้เข้าจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหา ที่ประสงค์จะขอประกัน แต่ผู้กำกับสภ.บางเสาธงได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ในช่วงสายวันที่ 24 มิ.ย. พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ซึ่งระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์นี้ 13 คน ได้แก่  1.นายรังสิมันต์ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.นายนันทพงศ์ ปารมาศ อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง 3.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4.นายอนันต์ โลเกตุ อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 5.นายธีรยุทธ นาบนารำ อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 6.นายยุทธนา ดาศรี อายุ 27 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 7.นายสมสกุล ทองสุกใส อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

8.นายวรวุฒิ บุตรมาตร อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.นางสาวกรชนก ชนะคูณ นักสหภาพแรงงาน 10.นางสาวเตือนใจ แวงคำ นักสหภาพแรงงาน 11.นางสาวปีใหม่ รัฐวงษา นักสหภาพแรงงาน 12.นางสาวพรรทิพย์ แสงอาทิตย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13.นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13501729_1026420584074462_7340956138103952311_n

ย่ำรุ่ง: ประชาชนรำลึกวัน “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ขณะตำรวจพยายามคุมตัว ‘จ่านิว’

ที่หมุดคณะราษฎร ตั้งแต่เวลา 6.00 น. กลุ่มประชาชน กวี และนักกิจกรรม อาทิกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่มกวีมันสูน ได้จัดกิจกรรมรำลึกเช้าวันที่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร โดยนักกิจกรรมได้ร่วมกันทำความสะอาดหมุดคณะราษฎร มีการนำดอกไม้ พวงมาลัย รูปภาพคณะราษฎร พร้อมข้อความ “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” มาวางโดยรอบหมุดคณะราษฎร

ตั้งแต่ก่อนหน้าเวลานัดหมาย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พร้อมเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจากสน.ดุสิตราว 40 นาย จัดกำลังดูแลโดยรอบบริเวณ รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบสังเกตการณ์ถ่ายรูปกิจกรรม โดยขณะประชาชนร่วมกันจัดแต่งดอกไม้ กล่าวถ้อยคำรำลึก และอ่านบทกวี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จัดกำลังยืนล้อมโดยรอบบริเวณหมุดคณะราษฏร

จนเวลา 6.25 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ได้เดินทางมาถึง ขณะลงจากรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีความพยายามจะควบคุมตัว โดยระบุว่า “นายจะเชิญไปพูดคุย” เมื่อนายสิรวิชญ์ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่รอบๆ ก็กรูกันเข้ามาล้อมและพยายามนำตัวขึ้นรถตำรวจของสน.ดุสิต แต่จากนั้นก็ได้มีการปล่อยตัว ไม่ควบคุมตัวต่อ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

เวลา 6.40 น. ยังปรากฏชายใส่ชุดสูทสีดำคนหนึ่ง มายืนกล่าวโจมตีคณะราษฎร ในลักษณะว่าไม่ได้เป็นผู้นำพาประชาธิปไตย ตำรวจจึงพยายามกันตัวออกมา และมีการตรวจค้นกระเป๋าของชายคนดังกล่าวด้วย

จากนั้น เวลา 6.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งประชาชนให้เลิกกิจกรรม โดยให้เวลา 5 นาทีในการเก็บข้าวของ เพื่อเปิดการจราจร ผู้จัดงานและประชาชนจึงทยอยแยกย้ายกันกลับ


8

10

photo_2016-06-24_06-32-16

ยามสาย: ตำรวจ-ทหารคุมตัวนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 7 คน จัดกิจกรรม “24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย”

ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน นิสิตจากกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” โดยกิจกรรมจะมีการเดินไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ บริเวณวงเวียนหลักสี่ เพื่อร่วมกันทำความสะอาดอนุสาวรีย์ อันเป็นอนุสรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายใน

แต่เวลา 9.30 น. ขณะกลุ่มนิสิตนักศึกษาราว 10 คน เริ่มรวมตัวกันบริเวณวัด ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนาย บางนายใส่เสื้อระบุว่ามาจากสืบสวนนครบาล 2 เข้าเจรจาจะเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่มีการขอถ่ายรูปวารสาร “ก้าวข้าม” ที่ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษาเตรียมเดินแจกระหว่างทาง พร้อมระบุว่าอาจเป็นความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ทั้งยังมีการนำรถตู้ของตำรวจมาจอดรอไว้ในบริเวณวัด แต่ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใด เจ้าหน้าที่ยังพยายามจะปิดประตูวัด และพยายามจะควบคุมตัวนิสิตชายรายหนึ่ง จนมีการฉุดกระชากไปนอนกับพื้นบริเวณลานวัด แต่กลุ่มนิสิตก็ได้รวมตัวกันเดินออกมาจากวัดพระศรีมหาธาตุได้

จากนั้น ระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาเดินเท้าบนทางเท้าไปยังวงเวียนหลักสี่ เจ้าหน้าที่ได้มีการนำกำลังทหารและตำรวจในเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมฝูงชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้ามาเพิ่ม และพยายามเข้าควบคุมตัวกลุ่มนิสิตนักศึกษา แต่ทางกลุ่มนิสิตเห็นว่าไม่มีการระบุข้อหาความผิดที่ชัดเจน หรือแจ้งว่าใช้อำนาจใดในการควบคุมตัว กลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงคล้องแขนกันนั่งลง พร้อมปฏิเสธไม่ให้ควบคุมตัว

photo_2016-06-24_09-36-02

photo_2016-06-24_09-47-00

photo_2016-06-25_09-13-02

photo_2016-06-24_10-01-22

จนเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังล้อม ก่อนเข้าอุ้ม ลาก และควบคุมตัวกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 7 คน ขึ้นรถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังสน.บางเขน โดยผู้ถูกควบคุมตัวประกอบไปด้วย

1.น.ส.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

2.นายเกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4

3.น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

4.นายกานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2

5.นายอุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

6.นายคุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4

7.น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่

จากนั้นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปยังสถานีตำรวจ แต่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าพบกับกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัว โดยแจ้งว่าให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คุยกับนิสิตนักศึกษาอยู่ ทางกลุ่มนิสิตระบุว่าได้มีอาจารย์เข้ามาเกลี้ยกล่อมและแจ้งว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

จนเวลาราว 11.00 น. นายอานนท์ นำภา ทนายความ ได้รับอนุญาตให้เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าจะดำเนินคดีทั้ง 7 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ยังได้มีการขอค้นกระเป๋าของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด มีเพียงการตรวจยึดพานสีทองที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญวางอยู่ มาไว้เป็นของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้แจ้งจะขอตรวจค้นรถยนต์ของน.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่จอดไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ แต่ชนกนันท์ปฏิเสธ

เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจึงได้นำรถไปยกรถของชนกนันท์ มาตรวจค้นที่สน.บางเขน ก่อนมีการตรวจยึดเอกสารวารสาร “ก้าวข้าม” และโทรโข่ง 1 อัน รวมทั้งที่คั่นหนังสือของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มีข้อความ “โหวตโน” และโค้ดคำพูดของนักคิดนักเขียน เจ้าหน้าที่ยังได้ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเข้ามาดูเอกสารต่างๆ ว่าเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติหรือไม่  นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพื่อขอยึดโทรศัพท์ของผู้ต้องหาไปตรวจสอบ แต่ต่อมาก็ได้มีการส่งคืน

เวลา 14.10 น. ได้มีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 7 คน ไปที่ห้องสอบสวน พนักงานสอบสอนสน.บางเขนได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 และความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีการสอบปากคำ และพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยผู้ต้องหาทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งหมดยังปฏิเสธการลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวทั้งหมดไปยังศาลทหารกรุงเทพ

photo_2016-06-25_09-14-54

photo_2016-06-24_14-31-39

เย็นย่ำ: ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน

เหตุการณ์ในช่วงเย็น เกิดขึ้นที่ศาลทหารกรุงเทพเป็นหลัก เมื่อมีการนำผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองกรณี รวมแล้ว 20 คน มาขออำนาจฝากขังที่ศาลทหาร โดยตั้งแต่เวลา 13.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนักกิจกรรม 13 คน ที่แจกเอกสารโหวตโน จากสภ.บางเสาธง ไปถึงศาลทหาร

ร.ต.อ.วิทูรย์ เพ็งบุบผา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน (ดูสรุปคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา)

จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

photo_2016-06-24_15-35-25

ศาลทหารให้ปล่อยตัว 7 นิสิตนักศึกษาเสรีเกษตรฯ เหตุคดีโทษไม่สูง และผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา

อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ควบคุมตัว 7 นิสิตนักศึกษากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จากสน.บางเขน ไปถึงศาลทหารกรุงเทพ ในเวลาราว 16.00 น.ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 7 คน โดยระบุเหตุผลว่าต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลทหารฝากขังกำหนด 12 วัน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว ขณะที่ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังเนื้อหาเช่นเดียวกับกรณี 13 นักกิจกรรม

จนเวลา 19.40 น. ศาลทหารกรุงเทพได้เริ่มการไต่สวนคำร้องฝากขัง โดยทนายได้สอบถามพนักงานสอบสวน ระบุว่าผู้ร้องทราบขณะจับกุมว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา ส่วนของกลางในคดีที่เป็นเอกสารทางการเมือง ผู้ร้องยังไม่ได้อ่าน และไม่ทราบว่าพยาน 4 ปากที่จะสอบเพิ่มเติมคือใคร เพราะไม่ใช่พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ส่วนกระบวนการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวผู้ต้องหา แต่เป็นเรื่องของเจ้าพนักงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งหมดไว้แล้ว โดยให้การปฏิเสธ

นายกานต์ สถิตศิวกุล หนึ่งในนิสิตที่ตกเป็นผู้ต้องหา ยังขึ้นแถลงต่อศาลถึงความตั้งใจในการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 และตั้งใจไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ ทั้งยังเป็นนักศึกษา และอยู่ระหว่างการสอบในมหาวิทยาลัย จึงขอให้ศาลปล่อยตัว

ศาลทหารได้วินิจฉัยยกคำร้องขอฝากขัง โดยระบุว่าพฤติกรรมในการกระทำความผิดมีอัตราโทษไม่สูง ประกอบกับผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา จึงต้องรับผิดชอบด้านการเรียน ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดยังได้ให้ปากคำไว้แล้ว และยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวเอาไว้

เวลา 20.35 น.ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน จึงได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหาร

photo_2016-06-24_20-46-32

พลบค่ำ: 7 ผู้ต้องหาแจกเอกสารโหวตโนยอมนอนเรือนจำ ยืนยันไม่ประกันตัว เพราะไม่ได้กระทำผิด

ในช่วงเวลาเดียวกัน ราว 18.30 น.กลุ่มพลเมืองโต้กลับราว 10 คน ยังได้จัดกิจกรรมสวมแว่นดำและยืนเฉยๆ เป็นเวลาชั่วโมงเศษ ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงถึงการประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นและตั้งข้อหาประชาชนซึ่งออกมาตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมคุมขังในวันนี้ แต่กิจกรรมไม่ถูกแทรกแซงหรือปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่

ขณะที่หน้าศาลทหาร ได้มีประชาชนและสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทยอยมารวมตัวกัน เพื่อรอให้กำลังใจเพื่อนที่จะถูกควบคุมตัวไปเรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าเจรจาขอให้หยุดใช้เครื่องเสียงเพื่อแลกกับการให้ผู้ต้องหาแจกเอกสารโหวตโนทั้ง 13 คน ซึ่งต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำ ได้เดินทางผ่านมวลชนที่ยืนคอยส่งอยู่

photo_2016-06-25_09-25-07

photo_2016-06-25_09-25-35

แต่เวลาราว 20.00 น.เจ้าหน้าที่กลับมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา 13 คน ออกไปจากศาลทหารทางอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจอย่างมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้ว เท่ากับเป็นการโกหก เมื่อมีการเจรจากันใหม่อีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมประสานให้รถเรือนจำขับกลับมาที่ศาลทหารอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อรถมาถึงมวลชนที่รออยู่ราว 100 คนได้ร้องเพลงเเสงดาวแห่งศรัทธาเพื่อเป็นการส่งผู้ต้องหา

ต่อมาเวลา 20.50 น. ศาลทหารกรุงเทพฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 6 ราย กรณีแจกเอกสารโหวตโน โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท ศาลได้ระบุเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ว่า “ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุมอันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆ ในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ อันกระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

เวลาราว 23.00 น.ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร จึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 ราย ที่ยืนยันไม่ยื่นประกันตัว ได้แก่ 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทั้งหมดเห็นว่าไม่ควรเสียหลักทรัพย์เพื่อให้ได้รับเสรีภาพที่ถูกพรากไปโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ โดยทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

photo_2016-06-24_21-03-30

photo_2016-06-24_19-57-48