สรุปแนวทางดูแลการชุมนุมของ ตร. ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558(ตอนสุดท้าย)

ในสองตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงระเบียบ ขั้นตอนและข้อห้ามต่างๆ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ไปแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ที่จัดทำขึ้นโดยข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558

เนื้อหาของแผนดังกล่าวได้กำหนดทั้งหลักการดูแลการชุมนุม นโยบาย วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กรอบยุทธศาสตร์ มาตรการดูแลการชุมนุมสาธารณะ บทบาท หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ขั้นตอนการปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์และอาวุธ โดยแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวนี้จะเป็นกรอบการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ในขณะที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะรอคำสั่งของศาลที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุม หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการให้เลิกการชุมนุมหรือยุติการชุมนุม

ซึ่งในส่วนนี้จะขอสรุปสาระสำคัญขั้นตอนปฎิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะ และ การใช้กำลังเครื่องมือ อุปกรณ์และอาวุธเท่านั้นสามารถแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 2 หัวข้อคือ ขั้นตอนปฎิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์ และอาวุธ

1.ขั้นตอนปฎิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ (ก่อนการชุมนุมสาธารณะหรือเมื่อรับทราบการรับแจ้งการชุมนุม)

ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการด้านงานข่าวเพื่อวางแผนรับมือสถานการณ์ชุมนุมและการเจรจากับผู้จัดการชุมนุมเป็นหลัก

– ดำเนินการด้านการข่าว วางแผนรวบรวมข่าวสาร ทั้งข่าวสารพื้นฐาน และขยายข่ายงานข่าว ประสานงานข่าวกับหน่วยงานข่าวต่างๆ สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการรับแจ้งการชุมนุม หรือการจัดการชุมนุมที่อาจยังไม่ได้มีการแจ้ง

– สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับแกนนำ ผู้สนับสนุน เครือข่าย ผู้จัดการชุมนุม ให้ทราบรูปแบบการชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุม สถานที่เดินขบวน พฤติการณ์ แผนประทุษกรรมที่เคยเกิด แนวโน้มสถานการณ์

– ติดต่อประสาน เจรจาต่อรอง และจัดเจ้าหน้าที่ประสานกับ ผู้แจ้งการชุมนุม แกนนำหรือผู้จัดการชุมนุม

– เตรียมพื้นที่การชุมนุมสาธารณะให้ปลอดภัยและหรือสะดวกต่อการใช้พื้นที่ของบุคคลทั่วไป

– จัดระเบียบสื่อมวลชน รับลงทะเบียนหรือออกเครื่องหมายหรือบัตรแสดงตัวแก่สื่อมวลชน เพื่อความปลอดภัยและจัดระเบียบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในพื้นที่เกี่ยวข้องการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความปลอดภัยของสื่อมวลชน

ขั้นที่ 2 ขั้นการเผชิญเหตุ (ขณะชุมนุมสาธารณะ)

เมื่อมีสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ จะดำเนินการตามข้อปฏิบัติ ซึ่งข้อที่เป็นสาระสำคัญ ประกอบด้วย

– ให้ตำรวจท้องที่เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณที่ชุมนุมและบริเวณใกล้เคียง ด้วยการแยกพื้นที่ชุมนุมออกจากพื้นที่ทั่วไป ตั้งจุดตรวจสกัดค้นอาวุธ สิ่งผิดกฎหมายรอบสถานที่ชุมนุมและตั้งจุดตรวจการณ์

– ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ชุมนุม จัดผู้แทนมารับทราบข้อเท็จจริง เจรจา ไกล่เกลี่ย หรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติ และให้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ

– ดำเนินการป้องกันเหตุแทรกซ้อนหรือการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้หน่วยตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบจัดกำลังเข้าป้องกัน ระงับยับยั้ง บังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดและภายใต้หลักการใช้กำลัง

ขั้นตอนที่ 3 ขั้นการใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์

การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ จะแบ่งออกเป็นการใช้ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ กับ การใช้กำลังของผู้ควบคุมสถานการณ์ ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้กำลังจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหัวข้อที่ 2 “การใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์ และอาวุธ”

1.การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการการชุมนุม ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น และดำเนินการดังนี้

(1) เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้กำลังชุดควบคุมฝูงชนต้องรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทันที หากในกรณีการชุมนุมมีการกระทำผิดกฎหมาย หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะรุนแรงหรืออาจเป็นอันตราย ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมดำเนินการสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำ โดยต้องรายงานให้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ทราบ และในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานครให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย

(2) หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมดำเนินการดังนี้

(2.1) ประกาศกำหนดให้พื้นที่บริเวณที่มีการชุมนุมและปริมณฑลเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมตามเวลาที่กำหนดในคำสั่งศาล ซึ่งเจ้าพนักงานจำเป็นต้องรายงานให้ศาลทราบด้วย ตามมาตรา 23

(2.2) ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด

(2.3) ประกาศห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

(3) รายงานเหตุการณ์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทราบ และรายงานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ

(4) เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมแล้ว หากมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุม หรือเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า ให้ดำเนินการทางยุทธวิธีจากเบาไปหาหนักเพื่อให้เลิกการชุมนุมนั้น (ถ้าทำได้) โดยการทำความเข้าใจ ด้วยการประกาศ สั่งด้วยวาจาให้ปฎิบัติตาม จับ ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามความจำเป็น ให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงการกระทำ พอสมควรแก่เหตุนั้น

(5) หากจำเป็นเพื่อให้เลิกการชุมนุม หรือการจับกุม หรือป้องกันภยันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ให้พิจารณาใช้กำลังตามหลักการใช้กำลัง

(6) กรณีผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เลิกการชุมนุม และอยู่ระหว่างร้องขอต่อศาลขอให้เลิกกการชุมนุม หากมีความจำเป็น ให้ดำเนินการจัดให้มีการบันทึกภาพและรวบรวมบันทึกภาพพยานหลักฐานความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทางยุทธวิธีหรือใช้กำลัง ดำเนินการทางยุทธวิธีจากเบาไปหาหนักหรือตามความจำเป็นตามสถานการณ์ หรือให้เป็นไปตามสัดส่วนตามหลักการใช้กำลังที่กำหนด

2. การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ของผู้ควบคุมสถานการณ์

กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะ และได้มีการปิดคำสั่งศาล และประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบแล้ว และเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้แจ้งให้ศาลทราบและประกาศพื้นที่ควบคุม แล้วให้ดำเนินการดังนี้

(1) เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศกำหนดให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม ให้ผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการเพื่อเลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาล โดยดำเนินการทางยุทธวิธีตามความจำเป็นและหลักการใช้กำลัง

(2) เมื่อรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงเฉพาะเพื่อรักษาความสงบแล้ว เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือผู้ควบคุมสถานการณ์ยังคงปฎิบัติหน้าที่ต่อไปตามที่ได้รับมอบหมาย ตามกฎหมายความมั่นคงเฉพาะนั้นกำหนด

ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนการฟื้นฟู (หลังการชุมนุมสาธารณะ)

ขั้นตอนการฟื้นฟู หลังจากการชุมนุมสาธารณะมีแผนแนวทางปฎิบัติดังนี้

1.จัดส่งผู้บาดเจ็บ ฟื้นฟู เยียวยา และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิหรือที่เกี่ยวข้อง

2. สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณะ ฟื้นฟูสถานที่หรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมตามอำนาจหน้าที่

2.การใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์ และอาวุธ

2.1 หลักการใช้กำลัง

เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ผู้ควบคุมสถานการณ์ หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาในการใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือในการรักษาความสงบ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังนี้

– โดยหลัก ก่อนการใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์หรือเครื่องมือ ให้ใช้การเจรจาและแจ้งเตือนกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมก่อน
ใช้กำลังตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยให้ใช้กำลังน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุภารกิจ

ส่วนการใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อบังคับให้ผู้ชุมนุมหรือบุคคลอื่นๆ ปฏิบัติตามคำสั่งหรือในกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง เช่น การใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อตรวจค้น จับกุม ให้ใช้กำลังได้ตามแนวทางดังนี้

เตือนด้วยวาจาว่าการฝ่าฝืนดังกล่าวผิดกฎหมายให้หยุดการกระทำ หากไม่หยุดให้แสดงท่าทางพร้อมใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ

หากยังคงฝ่าฝืนให้ใช้กำลังเพื่อกักตัวหรือทำการจับกุมได้ แต่ทั้งนี้ระดับของกำลังที่ใช้ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

– การปฎิบัติต่อผู้หญิง เด็ก และคนชรา จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปฎิบัติให้มีความเหมาะสมกับสถานภาพโดยต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ผู้ควบคุมสถานการณ์ เป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่หลัก หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการ เข้ายุติการชุมนุม

2.2 การใช้เครื่องมือ / อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน

การใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ต้องปฎิบัติดังต่อไปนี้ คือต้องใช้ตามความจำเป็นได้สัดส่วน และ เหมาะสมกับสถานการณ์

– ต้องเตือนผู้ชุมนุมหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อนว่าจะใช้กำลังเข้ายุติการชุมนุมโดยใช้อุปกรณ์

การใช้กระบอง ให้ใช้ในกรณีผลักดันกลุ่มคนออกจากพื้นที่ โดยเมื่อจำเป็นต้องใช้กระบองต้องเตือนก่อน เว้นแต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย และให้ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อการบรรลุภารกิจ หากจำเป็นต้องตี ต้องไม่ตีที่บริเวณอวัยวะสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทำให้พิการ

กระสุนยาง ให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น รวมทั้งต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน ไม่ยิงโดยไม่แยกแยะหรือไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ใช้การยิงอัตโนมัติ จะต้องเล็งยิงให้กระสุนยางกระทบส่วนล่างของร่างกายของผู้ที่เป็นเป้าหมาย

การใช้น้ำฉีด ให้ใช้กรณีการเข้ายุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ โดยใช้แรงดันน้ำเท่าที่จำเป็นในการสลายฝูงชน และระมัดระวังอย่าฉีดน้ำไปยังบริเวณอวัยวะที่บอบบาง เช่น ดวงตา เป็นต้น

การใช้สารควบคุมการจลาจลในการยุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ สามารถกระทำได้แต่ต้องมีการเตือนก่อนการใช้และให้ใช้ในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม

การใช้แก๊สน้ำตาให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการขว้างไปโดนตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดแก่กลุ่มคนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และห้ามใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ที่มีอำนาจการทำลายสูง เช่น เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ในการยิงลูกระเบิดสังหาร ระเบิดเพลิง อาวุธปืนกล ในภารกิจ การรักษาความสงบการชุมนุมสาธารณะ

2.3 การใช้อาวุธ

กรณีที่มีเหตุแทรกซ้อน มีการนำหรือใช้อาวุธร้ายแรงในสถานที่ชุมนุมสาธารณะ หรือมีการกระทำความผิดที่เป็นภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง ซึ่งมิใช่การตามปกติ ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการ อาวุธ เพื่อระงับ ยับยั้ง และปราบปรามการกระทำความผิดนั้นได้ ภายใต้กรอบของกฎหมาย พอสมควรแก่กับเหตุร้ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น นอกเหนือจากการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด

 

แม้ว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีเนื้อหาบางส่วนของกฎหมายฉบับนี้ที่มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเพิ่มเติม รวมทั้งแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีออกมาบังคับใช้ ประกอบกับประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทราบถึงสาระสำคัญอันเป็นรายละเอียดของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังกล่าวนี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงได้เขียนสรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจถึงขั้นตอนของกฎหมาย และขอบเขตอำนาจการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ และชี้ปัญหาบางประเด็นที่เกิดขึ้นจากการเจ้าหน้าที่รัฐนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ควบคู่กับคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อจำกัดสิทธิในการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป และทางศูนย์ทนายความฯ จะทำการวิเคราะห์ตัวกฎหมายฉบับนี้ในวาระต่อไป

 

สามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ แผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สรุปสาระสำคัญ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 1)

สรุปสาระสำคัญ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 2)

 

ใส่ความเห็น