ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ บุญงามอนงค์ 2 เดือน คดีไม่ไปรายงานตัว

photo_2016-06-30_13-06-42

วันนี้ (30 มิ.ย.59) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

………………………………………………………………………………….

photo_2016-06-30_13-05-59

สรุปคำอุทธรณ์ของจำเลย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยสรุปความได้ว่า จำเลยเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า “…เห็นว่า โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวเป็นโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แล้ว โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป แตกต่างไปจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง”

นอกจากนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

2.โจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากบบรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ไปรายงานตัว “โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร” และยังไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวที่ไม่สมควรอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด… ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้  ศาลจึงไม่อาจยกข้อโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บรรดาประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดของ คสช. นับแต่วันที่ยึดอำนาจการปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกประกาศ หรือคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ ได้

ต่อมา 24 พ.ค. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พ.ค. 2557 ถือว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวมีผลต่อจำเลยนับแต่วันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หากจะถือตามประเพณีการปกครองของไทย ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ที่ออกในวันที่ 23 พ.ค. 2557 ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นการออกคำสั่งหรือประกาศก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งหัวหน้า คสช. ในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลย้อนหลัง ซึ่งจำเลยเห็นว่า จะนำมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาปรับใช้กับจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคล โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป ซึ่งขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ของกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นนำข้อกฎหมายในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณารับรองสถานะของ คสช. เพื่อย้อนหลังเอาผิดและลงโทษจำเลย ยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 12 ที่ว่า “บุคคลใดจะถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำหรือเว้นการกระทำใด ๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้”

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 15  ที่ว่า “บุคคลย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ซึ่งในขณะที่กระทำไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายภายใน”

หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 รวมถึงถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากขณะออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับการแต่งตั้ง สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ดังนั้น ขณะออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้น ได้กระทำไปโดยมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยขอเรียนว่า จำเลยมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และจำเลยยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”

ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ที่ว่า “สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนคำสั่งได้ที่นี่

 

 

ย่ำรุ่งที่หมุดคณะราษฎร สู่พลบค่ำในเรือนจำ: ประมวลสถานการณ์สิทธิฯ วัน 84 ปีอภิวัฒน์สยาม

24 มิ.ย.59 เหมือนเช่นทุกปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนเวียนมาถึง วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่สังคมไทยมีการรำลึกถึงวันนี้ในแง่มุมต่างๆ ปีนี้ในโอกาสครบ 7 รอบ หรือ 84 ปี นับจากปี 2475 ก็มีการจัดกิจกรรมหลากหลายประเภท ทั้งกิจกรรมแสดงออกรำลึก กิจกรรมเสวนาวิชาการ หรือการอภิปรายต่างๆ รวมแล้วเกือบ 10 กิจกรรมตลอดวัน กระจายไปในหลายจุด ทั้งที่หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือห้องสมุดสันติประชาธรรม

แต่ภายใต้การควบคุมอำนาจของคสช.มากว่า 2 ปี ทำให้การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ที่เคยเป็นเรื่องปกติกลายเป็น “เรื่องผิดปกติ” เพราะอยู่ภายใต้การปิดกั้นแทรกแซงของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด มิหนำซ้ำ ในปีนี้ ยังมีการจับกุมดำเนินคดีนักกิจกรรม นิสิตนักศึกษา คนงานจากสหภาพแรงงาน รวมแล้ว 20 ราย ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองและต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร สถานการณ์ในหนึ่งวันอันทำให้เห็นสภาวะสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยที่ดูจะสวนทางกับการเป็น “วันเกิด” ของระบอบประชาธิปไตยไทย รายงานต่อไปนี้ประมวลสถานการณ์ตลอดวันอันยาวนานวันหนึ่งสำหรับหลายๆ คน

ความเดิมก่อนเวลาย่ำรุ่ง: ควบคุมตัว 13 นักกิจกรรม NDM-สหภาพแรงงาน ขณะแจกเอกสารโหวตโน

ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. เวลา 17.30 น. ที่บริเวณหลังตลาดสดหมู่บ้านการเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้มีการเข้าจับกุมนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ขณะกำลังแจกแผ่นพับ และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือโหวตโน โดยมีการควบคุมตัวทั้งหมดไปที่สภ.บางเสาธง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

เจ้าหน้าที่ยังได้มีการตรวจยึดเอกสารที่มีการแจก ได้แก่ 1.ใบปลิวขนาดใหญ่โนโหวตหรือโหวตโน 2.หนังสือชื่อเรื่องความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องน่ารู้  3.ใบปลิวขนาดใหญ่ชื่อ “ก้าวข้าม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” 4.เอกสารแนะนำวิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด พร้อมกับโทรโข่ง 1 อัน

photo_2016-06-25_09-20-22

13466450_1026232280759959_4689505060565736853_n

จนช่วงเวลา 2.00 น. พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิ์ประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สภ.บางเสาธง ได้เริ่มทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและทยอยสอบปากคำ โดยในข้อกล่าวหามีการระบุว่า ขณะกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัวแจกเอกสารอยู่นั้น “เจ้าหน้าที่ได้เจรจาให้ยุติ แต่ผู้ต้องหากับพวกยังยืนยันจะดำเนินการต่อไป และแจ้งว่าจะแจกแต่เอกสารที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กกต.แจก เพื่อประชาสัมพันธ์ในการไปร่วมลงประชามติ เอกสารลำดับที่ 4 เท่านั้น แต่กลับแจกเอกสาร รายการที่ 1-3 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารที่รณรงค์ต่อต้านประชามติ” (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

ตั้งแต่ช่วงเวลา 02:00-04:00 น. ผู้ต้องหาที่ตั้งใจจะขอยื่นประกันตัวทั้งหมด 5 คน ได้ทยอยพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติ และสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง ในตอนแรก มีผู้ต้องหา 8 คน ที่ประสงค์จะไม่ยื่นขอประกันตัวเพราะยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปนั้นไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องขอประกันตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด

ต่อมา ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 24 มิ.ย. ขณะทนายความได้เข้าจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหา ที่ประสงค์จะขอประกัน แต่ผู้กำกับสภ.บางเสาธงได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ในช่วงสายวันที่ 24 มิ.ย. พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ซึ่งระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์นี้ 13 คน ได้แก่  1.นายรังสิมันต์ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.นายนันทพงศ์ ปารมาศ อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง 3.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4.นายอนันต์ โลเกตุ อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 5.นายธีรยุทธ นาบนารำ อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 6.นายยุทธนา ดาศรี อายุ 27 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 7.นายสมสกุล ทองสุกใส อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

8.นายวรวุฒิ บุตรมาตร อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.นางสาวกรชนก ชนะคูณ นักสหภาพแรงงาน 10.นางสาวเตือนใจ แวงคำ นักสหภาพแรงงาน 11.นางสาวปีใหม่ รัฐวงษา นักสหภาพแรงงาน 12.นางสาวพรรทิพย์ แสงอาทิตย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13.นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13501729_1026420584074462_7340956138103952311_n

ย่ำรุ่ง: ประชาชนรำลึกวัน “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ขณะตำรวจพยายามคุมตัว ‘จ่านิว’

ที่หมุดคณะราษฎร ตั้งแต่เวลา 6.00 น. กลุ่มประชาชน กวี และนักกิจกรรม อาทิกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่มกวีมันสูน ได้จัดกิจกรรมรำลึกเช้าวันที่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร โดยนักกิจกรรมได้ร่วมกันทำความสะอาดหมุดคณะราษฎร มีการนำดอกไม้ พวงมาลัย รูปภาพคณะราษฎร พร้อมข้อความ “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” มาวางโดยรอบหมุดคณะราษฎร

ตั้งแต่ก่อนหน้าเวลานัดหมาย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พร้อมเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจากสน.ดุสิตราว 40 นาย จัดกำลังดูแลโดยรอบบริเวณ รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบสังเกตการณ์ถ่ายรูปกิจกรรม โดยขณะประชาชนร่วมกันจัดแต่งดอกไม้ กล่าวถ้อยคำรำลึก และอ่านบทกวี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จัดกำลังยืนล้อมโดยรอบบริเวณหมุดคณะราษฏร

จนเวลา 6.25 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ได้เดินทางมาถึง ขณะลงจากรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีความพยายามจะควบคุมตัว โดยระบุว่า “นายจะเชิญไปพูดคุย” เมื่อนายสิรวิชญ์ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่รอบๆ ก็กรูกันเข้ามาล้อมและพยายามนำตัวขึ้นรถตำรวจของสน.ดุสิต แต่จากนั้นก็ได้มีการปล่อยตัว ไม่ควบคุมตัวต่อ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

เวลา 6.40 น. ยังปรากฏชายใส่ชุดสูทสีดำคนหนึ่ง มายืนกล่าวโจมตีคณะราษฎร ในลักษณะว่าไม่ได้เป็นผู้นำพาประชาธิปไตย ตำรวจจึงพยายามกันตัวออกมา และมีการตรวจค้นกระเป๋าของชายคนดังกล่าวด้วย

จากนั้น เวลา 6.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งประชาชนให้เลิกกิจกรรม โดยให้เวลา 5 นาทีในการเก็บข้าวของ เพื่อเปิดการจราจร ผู้จัดงานและประชาชนจึงทยอยแยกย้ายกันกลับ


8

10

photo_2016-06-24_06-32-16

ยามสาย: ตำรวจ-ทหารคุมตัวนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 7 คน จัดกิจกรรม “24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย”

ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน นิสิตจากกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” โดยกิจกรรมจะมีการเดินไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ บริเวณวงเวียนหลักสี่ เพื่อร่วมกันทำความสะอาดอนุสาวรีย์ อันเป็นอนุสรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายใน

แต่เวลา 9.30 น. ขณะกลุ่มนิสิตนักศึกษาราว 10 คน เริ่มรวมตัวกันบริเวณวัด ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนาย บางนายใส่เสื้อระบุว่ามาจากสืบสวนนครบาล 2 เข้าเจรจาจะเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่มีการขอถ่ายรูปวารสาร “ก้าวข้าม” ที่ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษาเตรียมเดินแจกระหว่างทาง พร้อมระบุว่าอาจเป็นความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ทั้งยังมีการนำรถตู้ของตำรวจมาจอดรอไว้ในบริเวณวัด แต่ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใด เจ้าหน้าที่ยังพยายามจะปิดประตูวัด และพยายามจะควบคุมตัวนิสิตชายรายหนึ่ง จนมีการฉุดกระชากไปนอนกับพื้นบริเวณลานวัด แต่กลุ่มนิสิตก็ได้รวมตัวกันเดินออกมาจากวัดพระศรีมหาธาตุได้

จากนั้น ระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาเดินเท้าบนทางเท้าไปยังวงเวียนหลักสี่ เจ้าหน้าที่ได้มีการนำกำลังทหารและตำรวจในเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมฝูงชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้ามาเพิ่ม และพยายามเข้าควบคุมตัวกลุ่มนิสิตนักศึกษา แต่ทางกลุ่มนิสิตเห็นว่าไม่มีการระบุข้อหาความผิดที่ชัดเจน หรือแจ้งว่าใช้อำนาจใดในการควบคุมตัว กลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงคล้องแขนกันนั่งลง พร้อมปฏิเสธไม่ให้ควบคุมตัว

photo_2016-06-24_09-36-02

photo_2016-06-24_09-47-00

photo_2016-06-25_09-13-02

photo_2016-06-24_10-01-22

จนเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังล้อม ก่อนเข้าอุ้ม ลาก และควบคุมตัวกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 7 คน ขึ้นรถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังสน.บางเขน โดยผู้ถูกควบคุมตัวประกอบไปด้วย

1.น.ส.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

2.นายเกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4

3.น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

4.นายกานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2

5.นายอุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

6.นายคุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4

7.น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่

จากนั้นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปยังสถานีตำรวจ แต่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าพบกับกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัว โดยแจ้งว่าให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คุยกับนิสิตนักศึกษาอยู่ ทางกลุ่มนิสิตระบุว่าได้มีอาจารย์เข้ามาเกลี้ยกล่อมและแจ้งว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

จนเวลาราว 11.00 น. นายอานนท์ นำภา ทนายความ ได้รับอนุญาตให้เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าจะดำเนินคดีทั้ง 7 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ยังได้มีการขอค้นกระเป๋าของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด มีเพียงการตรวจยึดพานสีทองที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญวางอยู่ มาไว้เป็นของกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้แจ้งจะขอตรวจค้นรถยนต์ของน.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่จอดไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ แต่ชนกนันท์ปฏิเสธ

เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจึงได้นำรถไปยกรถของชนกนันท์ มาตรวจค้นที่สน.บางเขน ก่อนมีการตรวจยึดเอกสารวารสาร “ก้าวข้าม” และโทรโข่ง 1 อัน รวมทั้งที่คั่นหนังสือของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มีข้อความ “โหวตโน” และโค้ดคำพูดของนักคิดนักเขียน เจ้าหน้าที่ยังได้ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเข้ามาดูเอกสารต่างๆ ว่าเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติหรือไม่  นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพื่อขอยึดโทรศัพท์ของผู้ต้องหาไปตรวจสอบ แต่ต่อมาก็ได้มีการส่งคืน

เวลา 14.10 น. ได้มีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 7 คน ไปที่ห้องสอบสวน พนักงานสอบสอนสน.บางเขนได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 และความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีการสอบปากคำ และพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยผู้ต้องหาทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งหมดยังปฏิเสธการลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวทั้งหมดไปยังศาลทหารกรุงเทพ

photo_2016-06-25_09-14-54

photo_2016-06-24_14-31-39

เย็นย่ำ: ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน

เหตุการณ์ในช่วงเย็น เกิดขึ้นที่ศาลทหารกรุงเทพเป็นหลัก เมื่อมีการนำผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองกรณี รวมแล้ว 20 คน มาขออำนาจฝากขังที่ศาลทหาร โดยตั้งแต่เวลา 13.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนักกิจกรรม 13 คน ที่แจกเอกสารโหวตโน จากสภ.บางเสาธง ไปถึงศาลทหาร

ร.ต.อ.วิทูรย์ เพ็งบุบผา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน (ดูสรุปคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา)

จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

photo_2016-06-24_15-35-25

ศาลทหารให้ปล่อยตัว 7 นิสิตนักศึกษาเสรีเกษตรฯ เหตุคดีโทษไม่สูง และผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา

อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ควบคุมตัว 7 นิสิตนักศึกษากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จากสน.บางเขน ไปถึงศาลทหารกรุงเทพ ในเวลาราว 16.00 น.ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 7 คน โดยระบุเหตุผลว่าต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลทหารฝากขังกำหนด 12 วัน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว ขณะที่ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังเนื้อหาเช่นเดียวกับกรณี 13 นักกิจกรรม

จนเวลา 19.40 น. ศาลทหารกรุงเทพได้เริ่มการไต่สวนคำร้องฝากขัง โดยทนายได้สอบถามพนักงานสอบสวน ระบุว่าผู้ร้องทราบขณะจับกุมว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา ส่วนของกลางในคดีที่เป็นเอกสารทางการเมือง ผู้ร้องยังไม่ได้อ่าน และไม่ทราบว่าพยาน 4 ปากที่จะสอบเพิ่มเติมคือใคร เพราะไม่ใช่พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ส่วนกระบวนการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวผู้ต้องหา แต่เป็นเรื่องของเจ้าพนักงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งหมดไว้แล้ว โดยให้การปฏิเสธ

นายกานต์ สถิตศิวกุล หนึ่งในนิสิตที่ตกเป็นผู้ต้องหา ยังขึ้นแถลงต่อศาลถึงความตั้งใจในการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 และตั้งใจไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ ทั้งยังเป็นนักศึกษา และอยู่ระหว่างการสอบในมหาวิทยาลัย จึงขอให้ศาลปล่อยตัว

ศาลทหารได้วินิจฉัยยกคำร้องขอฝากขัง โดยระบุว่าพฤติกรรมในการกระทำความผิดมีอัตราโทษไม่สูง ประกอบกับผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา จึงต้องรับผิดชอบด้านการเรียน ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดยังได้ให้ปากคำไว้แล้ว และยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวเอาไว้

เวลา 20.35 น.ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน จึงได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหาร

photo_2016-06-24_20-46-32

พลบค่ำ: 7 ผู้ต้องหาแจกเอกสารโหวตโนยอมนอนเรือนจำ ยืนยันไม่ประกันตัว เพราะไม่ได้กระทำผิด

ในช่วงเวลาเดียวกัน ราว 18.30 น.กลุ่มพลเมืองโต้กลับราว 10 คน ยังได้จัดกิจกรรมสวมแว่นดำและยืนเฉยๆ เป็นเวลาชั่วโมงเศษ ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงถึงการประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นและตั้งข้อหาประชาชนซึ่งออกมาตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมคุมขังในวันนี้ แต่กิจกรรมไม่ถูกแทรกแซงหรือปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่

ขณะที่หน้าศาลทหาร ได้มีประชาชนและสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทยอยมารวมตัวกัน เพื่อรอให้กำลังใจเพื่อนที่จะถูกควบคุมตัวไปเรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าเจรจาขอให้หยุดใช้เครื่องเสียงเพื่อแลกกับการให้ผู้ต้องหาแจกเอกสารโหวตโนทั้ง 13 คน ซึ่งต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำ ได้เดินทางผ่านมวลชนที่ยืนคอยส่งอยู่

photo_2016-06-25_09-25-07

photo_2016-06-25_09-25-35

แต่เวลาราว 20.00 น.เจ้าหน้าที่กลับมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา 13 คน ออกไปจากศาลทหารทางอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจอย่างมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้ว เท่ากับเป็นการโกหก เมื่อมีการเจรจากันใหม่อีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมประสานให้รถเรือนจำขับกลับมาที่ศาลทหารอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อรถมาถึงมวลชนที่รออยู่ราว 100 คนได้ร้องเพลงเเสงดาวแห่งศรัทธาเพื่อเป็นการส่งผู้ต้องหา

ต่อมาเวลา 20.50 น. ศาลทหารกรุงเทพฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 6 ราย กรณีแจกเอกสารโหวตโน โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท ศาลได้ระบุเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ว่า “ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุมอันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆ ในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ อันกระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

เวลาราว 23.00 น.ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร จึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 ราย ที่ยืนยันไม่ยื่นประกันตัว ได้แก่ 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทั้งหมดเห็นว่าไม่ควรเสียหลักทรัพย์เพื่อให้ได้รับเสรีภาพที่ถูกพรากไปโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ โดยทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

photo_2016-06-24_21-03-30

photo_2016-06-24_19-57-48

ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว

จากกรณีที่นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกลุ่มนักศึกษาจากรามคำแหง จำนวน 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว จากกรณีแจกแผ่นพับ ใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

24 มิ.ย.59 เวลาราว 8.30น. ขณะทนายความกำลังจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหาที่จะขอประกัน ผู้กำกับสภ.บางเสาธง ได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ต่อมา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ประกาศนี้ลงวันที่ 29 ก.ย.49 ระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เวลา 12.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ออกจากสภ.บางเสาธง ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

ทางผู้ต้องหา 6 รายจะได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลต่อไป ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 รายยังยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัว 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้จะถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

photo_2016-06-24_15-35-25

สำหรับคำร้องคัดค้านการฝากขังของทนายความโดยสรุประบุว่า

1.คำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการได้อำนาจในการปกครองประเทศมานั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย

2. คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธจึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ไม่อาจถูกจำกัดและถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้

3.การประกาศและบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยแท้ เพราะการออกคำสั่งไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบของประชาชนเพื่อเข้าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมืองตามข้อ 12 การประกาศและบังคับใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวจึงมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคสช. เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างแท้จริง ดังนั้นการใช้สิทธิในการแสดงออกจึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีอาญา

4. ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย  ประกาศหรือคำสั่งคสช. กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงไม่รวมไปถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย เมื่อไม่ได้ระบุไว้ต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง

5. คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาในระหว่างที่ประเทศมีสภาวะสงครามหรือระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ตามหลักกฎหมายทั่วไปเมื่อกฎหมายใหม่ถูกประกาศออกมาย่อมทำให้กฎหมายเก่ายกเลิกไปโดยปริยาย ดังนั้นถือว่าปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว

‘หนุ่มเชียงใหม่’ ให้การปฏิเสธข้อหาม.112 ปลอมเฟซบุ๊กโพสต์หมิ่นฯ- ขณะศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับ

24 มิ.ย.59 ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสอบคำให้การในคดีของนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกอัยการทหารฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จากการถูกกล่าวหาว่าได้ปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นใช้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ศาลทหารได้อ่านคำฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 จำเลยได้นำข้อความและภาพถ่ายปลอมเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่น และโพสต์วิดีโอและภาพประกอบด้วยข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ นายวิชัยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลทหารจึงได้ให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ตุลาคม 2559

อัยการทหารยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เหตุเป็นคดีความมั่นคง ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้พิจารณาลับตามคำร้องของอัยการ ทางฝ่ายจำเลยจึงจะจัดทำคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีอาญา จึงต้องพิจารณาโดยเปิดเผย

สำหรับนายวิชัย อายุ 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 65/2558 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ก่อนจะถูกฝากขังต่อศาลทหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) (3) (5) โดยนายวิชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฝากขังครั้งที่ 6 “หนุ่มเชียงใหม่” ม.112 ปลอมเฟสบุ๊กโพสต์หมิ่นสถาบันฯ

บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

 

 

เกริ่นนำ

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 

ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475

แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการประกาศหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและหลัก 6 ประการ ที่สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับรวบอำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไว้ในมือของ คสช. โดยเบ็ดเสร็จพร้อมยกเว้นความรับผิดตนเองไว้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศตนเองเป็นรัฐฏาธิปัตย์ หรือผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งที่ไม่ได้มีฐานที่มาใด ๆจากปวงชน และสถาปนาระบบอำนาจ คสช. ที่ไม่เปิดให้ประชาชนสามารถโต้แย้ง คัดค้านหรือได้รับการเยียวยาจากการใช้อำนาจของรัฐ แม้แต่ศาลเองก็มีคำวินิจฉัยในลักษณะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวในหลายคดี จนกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนถูกลิดรอนไปทั้งหมดตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา อ่านเพิ่มเติม