ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว

จากกรณีที่นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกลุ่มนักศึกษาจากรามคำแหง จำนวน 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว จากกรณีแจกแผ่นพับ ใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

24 มิ.ย.59 เวลาราว 8.30น. ขณะทนายความกำลังจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหาที่จะขอประกัน ผู้กำกับสภ.บางเสาธง ได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ต่อมา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ประกาศนี้ลงวันที่ 29 ก.ย.49 ระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เวลา 12.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ออกจากสภ.บางเสาธง ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

ทางผู้ต้องหา 6 รายจะได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลต่อไป ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 รายยังยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัว 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้จะถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

photo_2016-06-24_15-35-25

สำหรับคำร้องคัดค้านการฝากขังของทนายความโดยสรุประบุว่า

1.คำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการได้อำนาจในการปกครองประเทศมานั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย

2. คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธจึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ไม่อาจถูกจำกัดและถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้

3.การประกาศและบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยแท้ เพราะการออกคำสั่งไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบของประชาชนเพื่อเข้าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมืองตามข้อ 12 การประกาศและบังคับใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวจึงมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคสช. เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างแท้จริง ดังนั้นการใช้สิทธิในการแสดงออกจึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีอาญา

4. ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย  ประกาศหรือคำสั่งคสช. กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงไม่รวมไปถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย เมื่อไม่ได้ระบุไว้ต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง

5. คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาในระหว่างที่ประเทศมีสภาวะสงครามหรือระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ตามหลักกฎหมายทั่วไปเมื่อกฎหมายใหม่ถูกประกาศออกมาย่อมทำให้กฎหมายเก่ายกเลิกไปโดยปริยาย ดังนั้นถือว่าปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว

‘หนุ่มเชียงใหม่’ ให้การปฏิเสธข้อหาม.112 ปลอมเฟซบุ๊กโพสต์หมิ่นฯ- ขณะศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับ

24 มิ.ย.59 ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสอบคำให้การในคดีของนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกอัยการทหารฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จากการถูกกล่าวหาว่าได้ปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นใช้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ศาลทหารได้อ่านคำฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 จำเลยได้นำข้อความและภาพถ่ายปลอมเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่น และโพสต์วิดีโอและภาพประกอบด้วยข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ นายวิชัยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลทหารจึงได้ให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ตุลาคม 2559

อัยการทหารยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เหตุเป็นคดีความมั่นคง ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้พิจารณาลับตามคำร้องของอัยการ ทางฝ่ายจำเลยจึงจะจัดทำคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีอาญา จึงต้องพิจารณาโดยเปิดเผย

สำหรับนายวิชัย อายุ 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 65/2558 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ก่อนจะถูกฝากขังต่อศาลทหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) (3) (5) โดยนายวิชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฝากขังครั้งที่ 6 “หนุ่มเชียงใหม่” ม.112 ปลอมเฟสบุ๊กโพสต์หมิ่นสถาบันฯ

บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

 

 

เกริ่นนำ

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 

ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475

แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการประกาศหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและหลัก 6 ประการ ที่สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับรวบอำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไว้ในมือของ คสช. โดยเบ็ดเสร็จพร้อมยกเว้นความรับผิดตนเองไว้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศตนเองเป็นรัฐฏาธิปัตย์ หรือผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งที่ไม่ได้มีฐานที่มาใด ๆจากปวงชน และสถาปนาระบบอำนาจ คสช. ที่ไม่เปิดให้ประชาชนสามารถโต้แย้ง คัดค้านหรือได้รับการเยียวยาจากการใช้อำนาจของรัฐ แม้แต่ศาลเองก็มีคำวินิจฉัยในลักษณะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวในหลายคดี จนกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนถูกลิดรอนไปทั้งหมดตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา อ่านเพิ่มเติม

พิพากษา พ.ร.บ.ชุมนุมคดีแรก กรณีย้าย บขส. ขอนแก่น

20 มิ.ย. 59 นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี พร้อมนายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 เดินทางไปศาลแขวงขอนแก่น หลังศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยโจทก์ยื่นสืบพยาน 4 ปาก ส่วนจำเลยยื่นสืบพยาน 12 ปาก  ทั้งนี้ ศาลได้นัดสืบพยานวันที่ 24-26 ส.ค. 59

สืบเนื่องจาก 21 เม.ย.59 ศาลแขวงขอนแก่น อ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น 7 คน ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม., กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้  ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี นายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 1, 3 และ 6 ได้แถลงต่อศาลขอถอนคำให้การรับสารภาพ และให้การใหม่ปฏิเสธ ขอสู้คดีต่อ เพื่อพิสูจน์ความจริง

นายภัตธนสันต์ แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากการสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59  ศาลบอกให้รับสารภาพไปก่อน แต่โทษยังหนักอยู่ ทั้งที่จำเลยบางคนไม่ได้กระทำความผิด หากยอมรับผิดก็เท่ากับว่าต้องรับโทษเท่าเพื่อน จึงปฏิเสธเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า ไม่ใช่ภาครัฐจะถูกต้องเสมอไป

ศาลจึงอ่านคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 7 ที่รับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม ลงโทษจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม รวม 2 กระทง ปรับกระทงละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 4 เดือน ปรับคนละ 8,000 บาท  ลงโทษจำเลยที่ 5 และ 7 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม ปรับคนละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ จำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท  จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 1 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจ พร้อมเอกสารประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำในฐานะที่เป็นราษฎรที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการบริหารราชการของรัฐ ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความวุ่นวาย การชุมนุมไม่มีอาวุธหรือก่อให้เกิดความเสียหาย ยุติการชุมนุมในช่วงเวลาสั้นๆ พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 6 ศาลให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ 

นับเป็นคดีแรกที่ติดตามได้ว่ามีการอ่านคำพิพากษาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 58

  • เหตุแห่งคดี

จำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี 2.นายสมเดช คำสุ่ย 3.นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนา 4.นายบุญมี เต็งเจริญกุล 5.นายทวีวัฒน์ อนันตรักษ์ 6.นายสวาท อุปฮาด 7.นางสาวสมพร ศรีจำนง ถูกอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 ส.ค. 2558 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ร่วมเชิญชวนหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ได้จัดการชุมนุมของบุคคลในที่ สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่น สามารถร่วมกันชุมนุมนั้นได้ ณ บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารสถานีขนส่ง 3 จังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานีขนส่งสาธารณะ โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งมิได้มีการผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นก่อนเริ่มการชุมนุม

และเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันจัดการชุมนุม ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ ณ บริเวณบันไดทางขึ้นศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานที่หน่วยงานของรัฐ โดยรวมตัวกันไปชุมนุมสาธารณะพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 200 คน การชุมนุมของจำเลยทั้งเจ็ดและผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวเป็นการกีดขวางทางเข้าออกอาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริเวณสถานที่ดังกล่าว ท้ายคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งเจ็ด ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4,6,8,10,12,14,27,28

  • ศาลไกล่เกลี่ยจำเลยรับสารภาพ 

ในนัดพร้อมโจทก์และจำเลย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59 ศาลได้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยรับสารภาพ โดยแจ้งว่าหากรับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้ และไม่ให้ติดคุก คือ จะลงโทษปรับกระทงละ 10,000 บาท ลดเหลือกระทงละ 5,000 บาท ทั้งนี้ ศาลกล่าวกับจำเลยว่า เหตุที่ลงโทษปรับ 10,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดนั้น เพราะผู้ใหญ่อยากปรามประชาชน ไม่อยากให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่อยากให้มีคนออกมาก่อความวุ่นวาย

ทนายจำเลยถามศาลว่า ในกรณีที่บางคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ของวันที่ฟ้อง โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าวันเกิดเหตุเขาประชุมอยู่ต่างจังหวัดอีกที่หนึ่ง หากสารภาพศาลจะมีช่องทางช่วยลดโทษให้อีกหรือไม่ ศาลตอบว่า ถ้ารับสารภาพก็ต้องลงโทษเท่ากัน เท่าที่ศาลดูก็น่าจะมีกำลังจ่ายกันอยู่ จ่ายแล้วก็จบ จะได้ไม่เป็นบรรทัดฐานให้คนอื่นๆ ทำตาม

สุดท้าย จำเลยทั้งเจ็ดยินยอมถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เนื่องจากศาลกล่าวว่า หากเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้มาแถลงต่อศาลได้ตลอดเวลา โดยจำเลยบางคนยังติดใจที่จะสู้คดี เพื่อยืนยันการปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ และจะรอไปแถลงต่อศาลในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา

  • เหตุผลของผู้ที่สู้ต่อ

นายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 ขอกลับคำให้การ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ต้องการต่อสู้คดีว่า เนื่องจากรัฐกล่าวหาว่าประชาชนชุมนุมขัดขวางการทำหน้าที่ของราชการ ซึ่งเขายอมรับไม่ได้เพราะไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ยอมรับในข้อกฎหมายด้วย เขาทำเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้มีผลตามข้อกล่าวหา และยังยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสิทธิอยู่

นายสวาทยืนยันว่า เขาเรียกร้องมันไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่มันคือการเรียกร้องต่อสาธารณะ คนที่อยู่ในละแวกสถานีขนส่งผู้โดยสาร ( บขส.) และคนที่ใช้บริการ บขส. เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนคนที่ยอมรับสารภาพก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคน ทุกคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน

“สำหรับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในฐานะที่เราเป็นประชาชน บอกตรงๆ ว่าเรายอมรับไม่ได้เพราะมันเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งจากการที่เราโดนคดีตาม พ.ร.บ.นี้ สิ่งที่เรายืนยันก็คือ เราต้องต่อสู้เพื่อที่จะยืนยันว่าการใช้เสรีภาพ และการปกป้องเสรีภาพมันควรที่จะเปิดกว้างให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในการนำเสนอ ไม่ใช่ใช้เงื่อนไขข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติคงยากที่จะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับนี้ แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมี พ.ร.บ.ชุมนุม เราก็ยังจะต่อสู้เพื่อยืนยันไม่ให้รัฐปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าทุกเรื่อง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ประชาชนถูกปิดกั้นการใช้เสรีภาพก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และผลที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้น”

  • การคัดค้านที่ยืดเยื้อ

การคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น เริ่มจากเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2554 กรมการขนส่งทางบกได้ติดประกาศที่สถานีขนส่งผูโดยสารขอนแก่นแห่งที่ 1 และ 2  แจ้งให้ย้ายเส้นทางการเดินรถปรับอากาศทั้งหมดและประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของ บขส.ขอนแก่น (สีส้ม) ไปอยู่ที่สถานีแห่งใหม่ (แห่งที่ 3) ทั้งหมด

ต่อมา วันที่ 8 พ.ย. 2554 มีประชาชนออกมาชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่นคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งดังกล่าว เนื่องจากสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และ 2 ตั้งอยู่ในเมืองขอนแก่น ใกล้สถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ศาล หรือศาลากลางจังหวัด ขณะที่แห่งใหม่อยู่ไกลจากตัวเมือง ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น และอาจมีอันตรายในระหว่างการเดินทาง เพราะยังไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ในละแวก บขส. แห่งที่ 1 มีผู้ค้ารายย่อยกว่า 300 ร้าน การย้าย บขส. จึงส่งผลกระทบให้กับกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้

นโยบายของกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ เนื่องจากมีกระแสคัดค้านของประชาชน แต่ความพยายามผลักดันก็ยังมีขึ้นเป็นระยะ ในปี 2556-2558 แต่ก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมคัดค้านทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีครั้งไหนที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้าน จนกระทั่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมีผลบังคับใช้

  • เสียงของผู้ได้รับผลกระทบหากมีการย้าย บขส.

นางฉลวย รัตนภักดี แม่ค้าขายเสื้อในย่าน บขส. หนึ่งในผู้ที่มารอให้กำลังใจอยู่นอกห้องพิจารณาคดี ในวันที่จำเลยทั้งเจ็ด  เข้ารับฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงขอนแก่น สะท้อนปัญหาเรื่องการย้าย บขส. ซึ่งเป็นต้นเหตุของคดีนี้ว่า หากย้าย บขส. ทั้งหมดไปรวมกันที่ บขส. แห่งใหม่ เราก็ต้องย้ายไปหาอยู่หากินที่ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้จะไปที่ไหน ที่นี่เราค้าขายกันมานาน รายได้ก็พอได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งลูกไปโรงเรียน แต่เขาเปลี่ยนที่ใหม่แล้วจะให้เราไปอยู่ไหน

ทั้งนี้ แกนนำในการคัดค้านการย้าย บขส. ไปรวมกันแห่งเดียว ที่ตกเป็นจำเลยและรับสารภาพในคดีนี้ เนื่องจากมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างนายบุญมี เต็งเจริญกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการย้าย บขส. ว่าการย้าย บขส.1 และ 2 ไปไว้ที่ บขส. 3 ที่เดียวนั้น เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ เนื่องจากสถานที่ราชการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และ บขส. 3 ห่างจากในเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งผลให้คนต่างอำเภอที่ต้องการเข้ามาทำธุระกับศูนย์ราชการต้องลำบากเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการต่อรถเข้าในเมือง รวมถึงการเอา บขส. เก่า 2 แห่งไปไว้กับ บขส. 3 ที่เดียวนั้นเป็นการกระจุกตัวเกินไป ควรจะทำให้ บขส.มีความหลากหลายในเรื่องสถานที่ เพื่อประชาชนจะได้มีสิทธิเลือกใช้บริการได้  ส่วนในเรื่องคดีเขากล่าวว่า ยังจะไปให้กำลังใจสำหรับคนที่ยังสู้ต่อ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญายกคำร้องควบคุมตัวไม่ชอบธเนตร อนันตวงษ์

photo-rajabhakti29Dec15

ธเนตร อนันต์วงษ์ (คนที่สามจากซ้าย)และผู้ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทธยานราชภักดิ์

วันนี้ (20 มิ.ย.59) ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ตามมาตรา 90  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งร้องให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์เนื่องจากควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายจากเหตุการควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.58 ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้มีการไต่สวนคำร้องใหม่ก่อนหน้านี้

ด้านนางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้ร้อง ชี้แจงว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายธเนตรซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัวขึ้นรถแท็กซี่ไปจากโรงพยาบาลสิรินธรเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.58 นายสิรวิชญ์จึงยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องไม่มีมูลเพียงพอจึงยกคำร้องเลย เมื่อเราอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้ไต่สวนใหม่เพราะยังไม่มีการไต่สวน

อย่างไรก็ตามในวันนี้ทนายความได้แจ้งต่อศาลว่านายธเนตรได้รับการปล่อยตัวแล้วตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 58 หลังจากนั้นนายธเนตรได้เดินทางไปยังต่างประเทศไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงมีคำสั่งว่า “ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่ากรณีตามคำร้องเมื่อผู้ต้องต้องถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 อีก ให้ยกคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”

ทั้งนี้นายธเนตรถูกควบคุมตัวเนื่องจากการแชร์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นอกจากนี้นายธเนตรได้ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่  7  ธันวาคม  2558  ส่องแสงหาคนโกง  เพื่อไปตรวจสอบการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสร้างอุทธยานราชภักดิ์ ซึ่งนายธเนตรเป็น 1 ใน 11 คนซึ่งถูกควบคุมตัวและไม่ยอมตกลงตามเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ถูกฟ้องคดีในเวลาต่อมา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน Uncategorized