ศาลสอบคำให้การคดี 112 ของปิยะคดีที่ 2 เลื่อนตรวจพยานไป 7 มี.ค.

วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดสอบคำให้การคดีม.112 ของนายปิยะคดีที่สอง หลังจากคดีแรกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่อัยการไม่มาศาลสั่งเลื่อนตรวจพยานหลักฐาน ออกไปเป็นวันที่ 7 มี.ค.

29 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การคดีของนายปิยะ(สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมลที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ไปยังที่อยู่อีเมลของธนาคารกรุงเทพและเว็บไซต์อื่นๆ จำเลยได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในการสอบคำให้การ แต่เนื่องจากพนักงานอัยการมีเหตุติดขัดไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ ศาลจึงสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 7 มีนาคม 2559 โดยฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานแล้ว

ก่อนหน้านี้นายปิยะถูกตัดสินจำคุก 9 ปี ศาลลดโทษเหลือ 6 ปี เนื่องจากรับสารภาพ จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คที่ชื่อ “พงศธร บันทอน” ที่โพสต์ภาพและข้อความในเชิงหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยหลักฐานที่ใช้ในคดีมีเพียงภาพที่บันทึกจากหน้าจอเท่านั้น โทษจำคุกที่สูงถึงกรรมละ 9 ปีนี้ ถือเป็นสถิติอัตราโทษที่สูงที่สุดของการพิพากษาคดี 112 ที่มีการสู้คดีในศาลพลเรือน และสูงเกือบเทียบเท่าคดี 112 ที่รับสารภาพในศาลทหาร

อ่านรายละเอียดคดีก่อนหน้านี้ได้ที่ ศาลอาญาพิพากษาคดีปิยะโพสต์เฟซบุ๊คหมิ่นฯ จำคุก 9 ปี

วันพรุ่งนี้ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

ศาลปกครองกลางกำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของคดีหมายเลขดำที่ บ. 408/2558 อันเป็นคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นผู้ฟ้องคดี ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยกำหนดนัดพิจารณาดังกล่าวเริ่มเวลา 13.30 น.ของวันดังกล่าว ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 8 รายละเอียดปรากฎตามภาพหมายแจ้งกำหนดวัน อ่านเพิ่มเติม

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน News Update

เว็บไซต์ประชามติจัดพูดเรื่อง รธน. แม้ทหารแทรกแซง ยันประชาชนต้องมีส่วนร่วม

28 ก.พ. 2559 เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ทหารในการจัดกิจกรรม ‘รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ?’ และกิจกรรมนำเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญผ่านสไลด์ ‘PechaKucha 20×20’ ว่าการขัดขวางการแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม ยืนยันจะยังจัดกิจกรรมต่อไป

เวลา 16.00 น. เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนจาก http://www.prachamati.org น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนจากเว็บไซต์ประชาไท น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ตัวแทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์ต่อกรณีแทรกแซงกิจกรรมของเว็บไซต์ประชามติ

เนื้อหาแลงการณ์มีใจความว่า ความพยายามปิดกั้นหรือต้องขออนุญาตในการแสดงความเห็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่วิธีการหาคำตอบให้สังคมอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในบรรยากาศการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปสังคมที่เว็บไซต์ประชามติยึดถือจึงยิ่งทวีความสำคัญ การขัดขวางการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะยิ่งทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมอยู่แล้วตั้งแต่ต้น สูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก และอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเมื่อถูกนำไปบังคับใช้ แต่เว็บไซต์ประชามติยังยืนยันที่จะทำกิจกรรมเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายต่อไป อ่านเพิ่มเติม

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นคัดค้านคำสั่งห้ามชุมนุม ด้านตำรวจชี้แจงไม่มีอำนาจตัดสินใจ

25 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะของตำรวจ สน.นางเลิ้ง ก่อนจะเข้าเจรจากับที่ปรึกษานายกฯ และรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ กพร. ด้านตำรวจ สน.นางเลิ้งชี้แจงว่าตำรวจไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้

เวลาประมาณ 10.10 น. ทางตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของค์กรที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่3/2559 และ ฉบับที่ 4/2559 จำนวนกว่า 100 องค์กร ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์คัดค้านหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ ต่อผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง จากกรณีที่ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมตามที่กลุ่มตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แจ้งจัดการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 24 ว่าจะจัดการชุมนุมที่บริเวณเกาะกลาง หน้าองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก ในวันที่ 25 ก.พ.ตั้งแต่เวลา 12.30-18.00 น. และในวันที่ 26-28 ก.พ.ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. โดยจะมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 30 คน

หนังสือแจ้งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมมีเนื้อหาว่า เนื่องจาก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และ ที่ 4/2559 ถือเป็นกฎหมายตามความใน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557 การชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงถือเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองซึ่งขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 3(4) รวมทั้งทางรัฐบาลได้กำหนดให้มีช่องทาง การยื่นเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม

ส่วนเนื้อหาในหนังสืออุทธรณ์คัดค้านหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมที่ทางกลุ่มตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ยื่นต่อผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ระบุว่า การชุมนุมที่เครือข่ายฯ ได้ขออนุญาตนั้น เครือข่าย ฯ มีเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ผู้ชุมนุมแจ้งล่วงหน้า มิใช่เป็นการขออนุญาต เครือข่ายฯ ขอชุมนุมครั้งนี้เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และที่ 4/2559 ที่เป็นการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง อันส่งผลต่อสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง การตีความชุมนุมคัดค้านคำสั่ง คสช. ทั้งหมดว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

เวลาประมาณ 10.20 น. พ.ต.อ.สมโสช สุวรรณจรัส ผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง ได้เดินทางมารับหนังสืออุทธรณ์คำสั่งคัดค้านหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ จากตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมแจ้งว่า หลังจากนี้ตนจะต้องส่งหนังสือไปยังผู้กำกับการตำรวจนครบาลภาค 1 เพราะตนไม่มีอำนาจพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คำสั่งฯ ฉบับดังกล่าว โดยผู้กำกับการตำรวจนครบาลภาค 1 คงจะมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยออกมาภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ตลอดการยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งฯ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสังเกตการณ์อยู่ราว 8 คน

ต่อมาเวลาประมาณ 12.30 น. กลุ่มเครือข่ายประชาชนฯ ได้เดินทางไปยัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อเจรจากับที่ปรึกษานายก และนายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยในการเจรจาไม่อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมด้วย มีการตรวจค้นก่อนเข้าอาคาร และหลังจากเข้าห้องเจรจาไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปบัตรประชาชนของกลุ่มเครือข่ายฯที่เข้าร่วมเจรจา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 กำหนดแต่เพียงว่าให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ “แจ้ง” การชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม “ขออนุญาต” จัดการชุมนุมแต่อย่างใด

นอกจากนั้น มาตรา 11 ยังกำหนดอีกว่า เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ผู้รับแจ้ง(ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง) ส่งสรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้แจ้งการชุมนุมทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง โดยไม่ได้ให้อำนาจในการ “อนุญาต” ให้มีการชุมนุม หรือมีคำสั่ง “ไม่อนุญาต” ให้มีการชุมนุมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้แจ้งการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว มาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ได้ให้อำนาจผู้รับแจ้งมีอำนาจออก “คำสั่งห้ามชุมนุม” ได้ แต่เป็นประเด็นเรื่องการใช้สถานที่หรือชุมนุมกีดกวาง เช่น พระบรมมหาราชวังหรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทยาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ศาล สถานที่ราชการ

หากว่าเป็นการชุมนุมหรือกีดขวางในสถานที่ต่างๆ ตามที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดไว้ และผู้รับแจ้งได้สั่งให้ผู้แจ้งการขุมนุมแก้ไขภายในกำหนดแล้ว แต่ผู้แจ้งการชุมนุมก็ไม่ได้แก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จึงจะมีอำนาจออก “คำสั่งห้ามชุมนุม” ได้ ตามมาตรา 11 วรรคสาม

ฉะนั้นเหตุผลที่ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอ้างว่าว่า “เนื่องจาก คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 และ ที่ 4/2559 ถือเป็นกฎหมายตามความใน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงถือเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองซึ่งขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 3(4) รวมทั้งทางรัฐบาลได้กำหนดให้มีช่องทาง การยื่นเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เห็นควรให้ติดต่อ ติดตาม เรื่องได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม” จึงเป็นการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุม โดยพิจารณาจากประเด็นเนื้อหาของการชุมนุม ซึ่งไม่สามารถนำมาอ้างในการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมได้ ตามขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 11 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ทั้งนี้มีข้อสังเกตุเพิ่มเติมว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองที่ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอ้างนั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ไม่สามารถใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เนื่องจากถูกประกาศออกมาใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีบทบัญญัติอย่างเดียวกันกับ ประกาศ คสช.ที่ 7/2557

ดังนั้นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งถูกประกาศออกมาใช้บังคับในภายหลังและมีเนื้อหาของบทบัญญัติอย่างเดียวกันกับประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ย่อมทำให้ประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ถูกยกเลิกและสิ้นผลไปโดยปริยาย ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายที่จะสามารถใช้บังคับได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป

เสื้อแดงอุบลฯ เข้าโรงพยาบาลหลังกลับจากรายงานตัวที่ มทบ.22 เส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตแล้ว

แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต หลังกลับจากรายงานตัวที่ มทบ.22  คนใกล้ชิดเผย เครียดจากทหารติดตาม

23 ก.พ. 59 ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา หรือ ช.อ้วน แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี จากสาเหตุ เส้นเลือดในสมองแตก ด้วยวัย 52 ปี

คนใกล้ชิดเล่าว่า ก่อนเสียชีวิต ศักดิ์สิทธิ์ มีความเครียดจากการถูกทหารติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยเขาต้องเข้าไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) จ.อุบลราชธานี ทุกวันจันทร์ ยิ่งกว่านั้น ทหารยังโทรศัพท์หา หรือไปพบที่บ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ

ก่อนหน้าวันที่ 1 พ.ย.58 ที่คนเสื้อแดงนัดกันใส่เสื้อแดง ทหารประมาณ 10 นาย มาพบศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน  และสั่งห้ามไม่ให้เขาออกมาเคลื่อนไหวใดๆ  ช่วงปีใหม่ เขาตั้งใจเอาปฏิทินที่พิมพ์ภาพ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มาแจกคนรู้จัก แต่เพิ่งแจกไปได้ไม่กี่ใบ ทหารก็มายึดปฏิทินที่เหลือกว่าร้อยใบไป เขาเล่าให้คนรู้จักฟังว่า ‘ผู้การ’ มาพบเขาเอง และขอไม่ให้แจกปฏิทินเหล่านั้น กรณีนี้กระทบความรู้สึกของศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก คนใกล้ชิดตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องหนักมากสำหรับเขา”

ไม่นับถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่ศักดิ์สิทธิ์เอาใจใส่ติดตาม และมักบ่นเสมอว่า “เราจะอยู่กันได้ยังไง” โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องยืนตามชั้นต้น ความเห็นของเขาคือ “ไม่ยุติธรรม”

จันทร์ที่ 22 ก.พ.59 ศักดิ์สิทธิ์เข้าไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ตามปกติที่เขาปฏิบัติมา นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 หลังออกจากค่ายทหาร เขามีอาการปวดหัวจนครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 23 ก.พ.59

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา เมื่อเดือนกันยายน 2558 ในประเด็นที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน ในช่วงหลังการรัฐประหาร และถูกทหารติดตามมาโดยตลอดหลังจากนั้น ซึ่งสำหรับเขาแล้ว “เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง… ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ… ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน” ศูนย์ทนายความฯ จึงขอนำบทบันทึกการพูดคุยในครั้งนั้นมาเผยแพร่ เป็นบทบันทึกบทหนึ่งของสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไม่ใช่น้อย…

ช อ้วน1

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค Krekyut Competdee

ขอถามถึงความเป็นมาก่อนที่จะถูกเอาตัวไปปรับทัศนคติ

ผมเห็นว่าการเมืองไทยไม่มีความจริงใจ ไม่มีความเท่าเทียม และที่สำคัญมีการปล้นอำนาจของประชาชนโดยทหาร มีการปิดหู ปิดตาประชาชน มีการละเมิดสิทธิประชาชน คนที่คิดต่างไม่สามารถอยู่ได้ รู้สึกว่าถูกรังแก กดขี่ ผมจึงยึดมั่นอุดมการณ์ว่า “ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้”

ผมรู้สึกถูกกดขี่และไม่พอใจในระบอบการปกครองที่มีการกดขี่ ข่มแหง ไม่ให้ความยุติธรรม สองมาตรฐานกับคนบางกลุ่ม ดังนั้น ผมต้องลุกมาต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ สัญลักษณ์การต่อสู้ของผมคือ ‘สีแดง’

ผมเริ่มเคลื่อนไหวและมีความคิดที่ต่อต้านระบบที่กดขี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 หลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นช่วงที่นายกฯ ทักษิณ ถูกกระทำจากอำนาจนอกระบบ ซึ่งท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากประชาชนเลือกและเราศรัทธา จึงทำให้ผมเป็นแบบทุกวันนี้คือ ต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

ช่วงการเคลื่อนไหวของ กปปส. ผมก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้และแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ยอมรับความคิดเห็นของ กปปส. จนถึงวันที่ทหารเข้ารัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชนอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 

 

ช่วยเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ถูกทหารเอาตัวไปปรับทัศนคติ

ก่อนที่จะถูกทหารมาที่บ้านแล้วเชิญไปปรับทัศนคติ ผมก็ใช้ชีวิตปกติ ค้าขาย ช่วงก่อนหน้านั้นที่บ้านผมก็มีการประชุม รวมกลุ่มพูดคุยทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและความเห็นทางการเมืองของ กปปส.  ที่บ้านผมเหมือนเป็นที่ประสานงานของ ‘ชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ’

วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ประมาณ 10 โมงเช้า กำลังทหารจากค่าย มทบ.22 มาที่บ้านซึ่งบอกผมว่ามาเชิญตัวเพราะ “นายจะคุยด้วย” ทหารบอกแค่นี้

รถฮัมวี่ รถเก๋ง 2 คัน รถกระบะ 2 คัน รถจีเอ็มซีพร้อมทหารในชุดพร้อมรบได้วางกำลังล้อมบ้านผม และมีการขอค้นบ้าน ผมไม่ให้ค้น ผมบอกว่า “ไม่มีอะไรในบ้าน”

ทหารชี้แจงรายละเอียดในการเชิญตัว ประมาณ 20 นาที แล้วบอกให้ผมเก็บร้านค้าขึ้นรถไปกับพวกเขา ผมนั่งในรถฮัมวี่มีทหารอาวุธครบมือนั่งแนบข้างผมทั้งสองข้าง ไม่มีการปิดตา ทหารพูดคุยกัน แต่ผมไม่พูด มีแต่ทหารยศใหญ่ที่พูดคุย ผมจำเส้นทางได้หมดว่าจะพาไปไหน

ทหารยังไม่บอกว่าจะเชิญตัวไปไหน ทำอะไร ทหารปฏิบัติกับผมดี ไม่มีการฉุดกระชาก พวกเขาเชิญขึ้นรถแบบให้เกียรติ ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวหรือพูดจารุนแรงกระทบจิตใจผม

ตอนนั้นครอบครัวของผมไม่อยู่ แต่ไม่ถึงสิบนาทีที่ทหารเชิญตัวไปเขาก็ทราบข่าว เพราะญาติพี่น้องแถวนั้นบอก

พอไปถึงที่ค่าย มทบ.22 ผมอยู่ในห้องรับรอง เป็นลักษณะห้องโถง มีหน้าต่างยาว ผมคิดว่าเป็นห้องทำงาน แต่มีการเก็บเฉพาะเพื่อให้ผมไปอยู่ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ค้างคืน ผมไม่ได้เอาเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวไปด้วย

ไปถึงที่นั่นก็นั่งรอเจ้าหน้าที่ที่จะมาคุยกับเรา โดยเป็นเจ้าหน้าที่คนละชุดที่ไปเชิญตัวผมมาจากบ้าน พวกเขาก็ชี้แจงเหตุผลที่ได้เชิญตัวมาว่า “ต้องได้พักที่นี่ซักระยะหนึ่ง บอกไม่ได้ว่ากี่วัน เจ้านายอยากจะสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลหลาย ๆ เรื่อง พวกเราขอเก็บโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด และขอช่วงนี้ไม่ให้พบญาติหรือเพื่อน ไม่ให้ติดต่อกับคนภายนอก”

ผมถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่น ทั้งหมด 6 วัน มีอาหารให้ครบทุกมื้อ กาแฟ ของว่างด้วย ในห้องมีแอร์ มีทีวี ที่รับได้แต่ช่องประกาศของคณะ คสช. ในห้องนั้นมีเพื่อนอยู่อีก 3 คน ที่นอนมีแค่เบาะ หมอน ผ้าห่มเล็ก ๆ ให้ ผมจำได้มีวันหนึ่งมีการตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ว่ามีจิตบกพร่องหรือไม่ โดยแพทย์ของทหารมาตรวจ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจก็มาสอบปากคำ เหมือนการสอบผู้ต้องหา โดยถามว่า “ทำไมต้องเป็นเสื้อแดง” “เราต่อสู้เพื่ออะไร” “จะล้มล้างระบอบการปกครองหรือมีการติดอาวุธหรือไม่” การสอบปากคำครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นอย่างต่ำ เพราะว่าคำถามยาวมาก การสอบปากคำมีครั้งเดียว แล้วลงลายมือชื่อผู้ที่ให้ปากคำ

ก่อนออกจากค่ายก็มีเอกสารมาให้เซ็นความร่วมมือต่าง ๆ กับทางเจ้าหน้าที่ เช่น การห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ไม่มีการซ้อมทรมาน หรือใช้ความรุนแรง แม้กระทั่งการตอบคำถามต่าง ๆ ทหารไม่บังคับให้ตอบ

หลังจากออกจากค่ายมาผมบันทึกความรู้สึกหรือคำพูดอะไรต่าง ๆ ของผมและเจ้าหน้าที่ตอนถูกควบคุมตัวไว้ แต่ผมฉีกมันทิ้งแล้ว เพราะผมไม่อยากจำ มันเป็นความทรงจำที่เลวร้าย

ช อ้วน2ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค Krekyut Competdee

หลังจากนั้นแล้ว ทหารยังติดตามดูความเคลื่อนไหวของเราอีกมั้ย

จนถึงทุกวันนี้ ทหารก็ยังติดตามมาหาที่บ้านตลอด มาถ่ายรูปเพื่อรายงานเจ้านายของพวกเขา บางครั้งโทรศัพท์มาถามว่า “ทำอะไร อยู่ในพื้นที่หรือไม่ จะไปหาที่บ้านนะว่าจะถ่ายรูป พูดคุยด้วย” ผมสังเกตว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทหารก็จะมาหาผมตลอด แม้แต่เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ ล่าสุด ก็เช่นกัน หลังๆ ยังเพิ่มหน่วยงาน มี กอ.รมน และสันติบาลมาด้วย และทุกวันจันทร์ผมก็ต้องเข้าค่ายไปรายงานตัว ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าผมยังอยู่ที่อุบลฯ

บางครั้งทหารเชิญไปร่วมงานปรองดองที่โคราช ให้ค่าเดินทางผมแค่ 500 บาท ผมปฏิเสธไม่ได้ต้องไปตามคำสั่งเขา

 

รู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับผมการที่ทหารทำกับผมและครอบครัวผมแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง เริ่มตั้งแต่การนำกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือมาล้อมบ้านผม ทำเหมือนผมเป็นผู้ร้ายอาชญากรรมรุนแรง และควบคุมตัวผมไปโดยไม่บอกสาเหตุ ควบคุมตัวผมไว้ที่ค่ายทหารไม่ให้รับรู้ข่าวสารโลกภายนอกทั้งหมด 6 วัน ถึงจะไม่มีการใช้ความรุนแรงกับผม แต่ในใจลึก ๆ ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ บอกว่าเจ็บกายหรือไม่ ไม่เจ็บ แต่เจ็บใจหรือไม่ โคตรเจ็บ จนเรากลืนความเจ็บปวดนั้นไว้และครอบครัวก็ไม่อยากรับสภาพแบบนี้ มีครั้งหนึ่งครอบครัวเคยบ่นไม่อยากต้อนรับทหาร เพราะบางครั้งผมต้องออกจากบ้าน ถ้ารู้ว่าทหารจะมา แต่ครอบครัวก็ต้องรับหน้าแทน ถ้าวันไหนลูกผมอยู่บ้าน ก็ต้องรับหน้าแทนผม แล้วทหารก็ถามหาผมว่าผมไปไหน ผ่านครอบครัว ผมรู้สึกรำคาญ ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน

 

มีสิ่งที่ยังไม่ได้ถาม แต่อยากพูดมั้ย

ผมไม่ถือว่ากลุ่มที่บริหารประเทศอยู่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ผมถือว่าพวกนี้เป็นกบฏ ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสภาผู้แทนฯ ของประชาชน นายกฯ ผมไม่เรียกว่าเป็นนายกฯ ผมเรียกว่าผู้นำกบฏ เพราะไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา ต่างชาติไม่ยอมรับ ผมไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนนี้ทุกกรณี ขอให้รีบลงจากอำนาจ

 

**หมายเหตุ** พิธีฌาปนกิจศพ นายศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.59 ณ วัดป่าบ้านหว่านไฟ ม.8 ต.บ้านดู่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด