ตร.อ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.คุมตัว 5 เครือข่ายสลัมปล่อยลูกโป่ง ทั้งที่แจ้งขออนุญาตตามพ.ร.บ.ชุมนุมแล้ว

2 ก.ค.59 ที่บริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนงานรังสิต และชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง “รณรงค์ไม่ผิด” เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 7 นักศึกษา-นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากการแจกเอกสารมีเนื้อหาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้จัดมีการขออนุญาตจัดกิจกรรมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก่อนแล้ว แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ควบคุมตัวแกนนำเครือข่ายสลัมจำนวน 5 คนไปสน.หัวหมาก ก่อนถูกสอบปากคำและปล่อยตัว โดยไม่แจ้งข้อหา

ตั้งแต่ก่อนเวลา 11.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมากมาควบคุมดูแลบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาบริเวณลานพ่อขุน ผู้ร่วมกิจกรรมราว 40 คน ได้นำลูกโป่ง และป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “รณรงค์ไม่ผิด” และ “Free Fair Referendum ปล่อย 7 นักโทษประชามติ” มารวมตัวกัน พร้อมกับได้มีการอ่านแถลงการณ์

นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แถลงเรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมขังเนื่องจากทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และร่วมทำกิจกรรมเรื่องปัญหาชุมชนเมืองกันมาก่อน จากนั้นนายสุพัฒน์ อาษาศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา และเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

2

13599873_1762568413961923_4432217563520240859_n

13533049_1762568500628581_6496668992215697194_n

ภาพกิจกรรมปล่อยลูกโป่งที่ลานพ่อขุน และเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท และเพจพิราบสื่อสาร)

แต่ก่อนหน้านายสุพัฒน์จะเริ่มอ่านแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามเข้าห้ามไม่ให้อ่าน และพยายามยื้อแย้งแถลงการณ์ไป ก่อนกลุ่มผู้จัดจะมีการเจรจาให้นายสุพัฒน์ได้อ่านแถลงการณ์จนจบได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง กับนางนุชนารถและผู้จัดกิจกรรมจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อนระบุขอเชิญตัวไปสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก

สำหรับผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 5 ราย เป็นนักกิจกรรมในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แก่ นางนุชนารถ แท่นทอง, นางหนูเกณ อินทจันทร์, นางทองเชื้อ วระชุน, น.ส.วิมล ถวิลพงษ์, น.ส.อำไพร รมยะปาน โดยระหว่างถูกควบคุมตัวมีประชาชนจากเครือข่ายสลัม กลุ่มคนงาน และนักศึกษาติดตามไปให้กำลังใจที่สถานีตำรวจหลายสิบคน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 5 คนไว้ โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ นอกจากนั้นยังมีการให้ลงบันทึกประจำวันไว้ มีข้อความระบุส่วนหนึ่งว่า “บุคคลทั้ง 5 สัญญาจะมาพบพนักงานสอบสวนโดยทันที หากพนักงานสอบสวนเรียกพบ” ก่อนเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวทั้ง 5 คน ในเวลาประมาณ 14.00 น.

11

หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ที่ทางผู้จัดกิจกรรมแจ้งต่อหัวหน้าสน.หัวหมาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 ได้มีการทำหนังสือแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากแล้ว โดยระบุว่าจะมีกิจกรรมแสดงเจตนารมณ์การรณรงค์ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ที่บริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่เวลา 11.00-12.00 น.ของวันที่ 2 ก.ค. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ในการควบคุมตัวสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไปยังสถานีตำรวจอีก

ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายเก่าสามารถถูกยกเลิกเมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดแจ้งระบุให้ยกเลิก โดยที่กฎหมายใหม่ และกฎหมายเก่า มีบทบัญญัติสำหรับกรณีหนึ่งๆ อย่างเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าไปในตัว เรียกว่า “การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย”

ในกรณีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการผ่านพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.58 ทำให้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 ที่กำหนดเรื่องห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นบทบัญญัติการเรื่องการชุมนุมสาธารณะเช่นเดียวกัน ต้องถือเป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย ตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่จนถึงปัจจุบัน คสช.และเจ้าหน้าที่รัฐกลับยังใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.นี้กล่าวหาและดำเนินการต่อประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเองก็ไม่ได้กำหนดห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแต่อย่างใด  

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติ

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3)

ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ บุญงามอนงค์ 2 เดือน คดีไม่ไปรายงานตัว

photo_2016-06-30_13-06-42

วันนี้ (30 มิ.ย.59) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

………………………………………………………………………………….

photo_2016-06-30_13-05-59

สรุปคำอุทธรณ์ของจำเลย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยสรุปความได้ว่า จำเลยเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า “…เห็นว่า โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวเป็นโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แล้ว โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป แตกต่างไปจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง”

นอกจากนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

2.โจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากบบรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ไปรายงานตัว “โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร” และยังไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวที่ไม่สมควรอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด… ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้  ศาลจึงไม่อาจยกข้อโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บรรดาประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดของ คสช. นับแต่วันที่ยึดอำนาจการปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกประกาศ หรือคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ ได้

ต่อมา 24 พ.ค. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พ.ค. 2557 ถือว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวมีผลต่อจำเลยนับแต่วันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หากจะถือตามประเพณีการปกครองของไทย ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ที่ออกในวันที่ 23 พ.ค. 2557 ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นการออกคำสั่งหรือประกาศก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งหัวหน้า คสช. ในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลย้อนหลัง ซึ่งจำเลยเห็นว่า จะนำมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาปรับใช้กับจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคล โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป ซึ่งขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ของกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นนำข้อกฎหมายในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณารับรองสถานะของ คสช. เพื่อย้อนหลังเอาผิดและลงโทษจำเลย ยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 12 ที่ว่า “บุคคลใดจะถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำหรือเว้นการกระทำใด ๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้”

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 15  ที่ว่า “บุคคลย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ซึ่งในขณะที่กระทำไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายภายใน”

หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 รวมถึงถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากขณะออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับการแต่งตั้ง สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ดังนั้น ขณะออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้น ได้กระทำไปโดยมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยขอเรียนว่า จำเลยมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และจำเลยยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”

ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ที่ว่า “สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนคำสั่งได้ที่นี่

 

 

ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว

จากกรณีที่นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกลุ่มนักศึกษาจากรามคำแหง จำนวน 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว จากกรณีแจกแผ่นพับ ใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

24 มิ.ย.59 เวลาราว 8.30น. ขณะทนายความกำลังจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหาที่จะขอประกัน ผู้กำกับสภ.บางเสาธง ได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ต่อมา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ประกาศนี้ลงวันที่ 29 ก.ย.49 ระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เวลา 12.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ออกจากสภ.บางเสาธง ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

ทางผู้ต้องหา 6 รายจะได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลต่อไป ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 รายยังยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัว 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้จะถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

photo_2016-06-24_15-35-25

สำหรับคำร้องคัดค้านการฝากขังของทนายความโดยสรุประบุว่า

1.คำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการได้อำนาจในการปกครองประเทศมานั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย

2. คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธจึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ไม่อาจถูกจำกัดและถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้

3.การประกาศและบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยแท้ เพราะการออกคำสั่งไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบของประชาชนเพื่อเข้าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมืองตามข้อ 12 การประกาศและบังคับใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวจึงมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคสช. เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างแท้จริง ดังนั้นการใช้สิทธิในการแสดงออกจึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีอาญา

4. ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย  ประกาศหรือคำสั่งคสช. กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงไม่รวมไปถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย เมื่อไม่ได้ระบุไว้ต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง

5. คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาในระหว่างที่ประเทศมีสภาวะสงครามหรือระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ตามหลักกฎหมายทั่วไปเมื่อกฎหมายใหม่ถูกประกาศออกมาย่อมทำให้กฎหมายเก่ายกเลิกไปโดยปริยาย ดังนั้นถือว่าปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว

‘หนุ่มเชียงใหม่’ ให้การปฏิเสธข้อหาม.112 ปลอมเฟซบุ๊กโพสต์หมิ่นฯ- ขณะศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับ

24 มิ.ย.59 ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสอบคำให้การในคดีของนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกอัยการทหารฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จากการถูกกล่าวหาว่าได้ปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นใช้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ศาลทหารได้อ่านคำฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 จำเลยได้นำข้อความและภาพถ่ายปลอมเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่น และโพสต์วิดีโอและภาพประกอบด้วยข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ นายวิชัยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลทหารจึงได้ให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ตุลาคม 2559

อัยการทหารยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เหตุเป็นคดีความมั่นคง ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้พิจารณาลับตามคำร้องของอัยการ ทางฝ่ายจำเลยจึงจะจัดทำคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีอาญา จึงต้องพิจารณาโดยเปิดเผย

สำหรับนายวิชัย อายุ 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 65/2558 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ก่อนจะถูกฝากขังต่อศาลทหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) (3) (5) โดยนายวิชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฝากขังครั้งที่ 6 “หนุ่มเชียงใหม่” ม.112 ปลอมเฟสบุ๊กโพสต์หมิ่นสถาบันฯ

พิพากษา พ.ร.บ.ชุมนุมคดีแรก กรณีย้าย บขส. ขอนแก่น

20 มิ.ย. 59 นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี พร้อมนายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 เดินทางไปศาลแขวงขอนแก่น หลังศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยโจทก์ยื่นสืบพยาน 4 ปาก ส่วนจำเลยยื่นสืบพยาน 12 ปาก  ทั้งนี้ ศาลได้นัดสืบพยานวันที่ 24-26 ส.ค. 59

สืบเนื่องจาก 21 เม.ย.59 ศาลแขวงขอนแก่น อ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น 7 คน ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม., กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้  ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี นายสมเดช คำสุ่ย และนายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 1, 3 และ 6 ได้แถลงต่อศาลขอถอนคำให้การรับสารภาพ และให้การใหม่ปฏิเสธ ขอสู้คดีต่อ เพื่อพิสูจน์ความจริง

นายภัตธนสันต์ แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากการสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59  ศาลบอกให้รับสารภาพไปก่อน แต่โทษยังหนักอยู่ ทั้งที่จำเลยบางคนไม่ได้กระทำความผิด หากยอมรับผิดก็เท่ากับว่าต้องรับโทษเท่าเพื่อน จึงปฏิเสธเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า ไม่ใช่ภาครัฐจะถูกต้องเสมอไป

ศาลจึงอ่านคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 7 ที่รับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม ลงโทษจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม รวม 2 กระทง ปรับกระทงละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 4 เดือน ปรับคนละ 8,000 บาท  ลงโทษจำเลยที่ 5 และ 7 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุม ปรับคนละ 2,000 บาท และฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ จำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท  จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 และ 7 คนละ 1 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจ พร้อมเอกสารประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำในฐานะที่เป็นราษฎรที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการบริหารราชการของรัฐ ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความวุ่นวาย การชุมนุมไม่มีอาวุธหรือก่อให้เกิดความเสียหาย ยุติการชุมนุมในช่วงเวลาสั้นๆ พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 6 ศาลให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ 

นับเป็นคดีแรกที่ติดตามได้ว่ามีการอ่านคำพิพากษาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 58

  • เหตุแห่งคดี

จำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายภัตธนสันต์ เสงี่ยมศรี 2.นายสมเดช คำสุ่ย 3.นายวัชรินทร์ เสริมศิริกาญจนา 4.นายบุญมี เต็งเจริญกุล 5.นายทวีวัฒน์ อนันตรักษ์ 6.นายสวาท อุปฮาด 7.นางสาวสมพร ศรีจำนง ถูกอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 ส.ค. 2558 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ร่วมเชิญชวนหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ได้จัดการชุมนุมของบุคคลในที่ สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่น สามารถร่วมกันชุมนุมนั้นได้ ณ บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารสถานีขนส่ง 3 จังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานีขนส่งสาธารณะ โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งมิได้มีการผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นก่อนเริ่มการชุมนุม

และเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันจัดการชุมนุม ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ของจังหวัดขอนแก่น โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ ณ บริเวณบันไดทางขึ้นศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานที่หน่วยงานของรัฐ โดยรวมตัวกันไปชุมนุมสาธารณะพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 200 คน การชุมนุมของจำเลยทั้งเจ็ดและผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวเป็นการกีดขวางทางเข้าออกอาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อันเป็นที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริเวณสถานที่ดังกล่าว ท้ายคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งเจ็ด ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4,6,8,10,12,14,27,28

  • ศาลไกล่เกลี่ยจำเลยรับสารภาพ 

ในนัดพร้อมโจทก์และจำเลย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59 ศาลได้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยรับสารภาพ โดยแจ้งว่าหากรับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้ และไม่ให้ติดคุก คือ จะลงโทษปรับกระทงละ 10,000 บาท ลดเหลือกระทงละ 5,000 บาท ทั้งนี้ ศาลกล่าวกับจำเลยว่า เหตุที่ลงโทษปรับ 10,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดนั้น เพราะผู้ใหญ่อยากปรามประชาชน ไม่อยากให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่อยากให้มีคนออกมาก่อความวุ่นวาย

ทนายจำเลยถามศาลว่า ในกรณีที่บางคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ของวันที่ฟ้อง โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าวันเกิดเหตุเขาประชุมอยู่ต่างจังหวัดอีกที่หนึ่ง หากสารภาพศาลจะมีช่องทางช่วยลดโทษให้อีกหรือไม่ ศาลตอบว่า ถ้ารับสารภาพก็ต้องลงโทษเท่ากัน เท่าที่ศาลดูก็น่าจะมีกำลังจ่ายกันอยู่ จ่ายแล้วก็จบ จะได้ไม่เป็นบรรทัดฐานให้คนอื่นๆ ทำตาม

สุดท้าย จำเลยทั้งเจ็ดยินยอมถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เนื่องจากศาลกล่าวว่า หากเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้มาแถลงต่อศาลได้ตลอดเวลา โดยจำเลยบางคนยังติดใจที่จะสู้คดี เพื่อยืนยันการปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ และจะรอไปแถลงต่อศาลในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา

  • เหตุผลของผู้ที่สู้ต่อ

นายสวาท อุปฮาด จำเลยที่ 6 ขอกลับคำให้การ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ต้องการต่อสู้คดีว่า เนื่องจากรัฐกล่าวหาว่าประชาชนชุมนุมขัดขวางการทำหน้าที่ของราชการ ซึ่งเขายอมรับไม่ได้เพราะไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ยอมรับในข้อกฎหมายด้วย เขาทำเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้มีผลตามข้อกล่าวหา และยังยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสิทธิอยู่

นายสวาทยืนยันว่า เขาเรียกร้องมันไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่มันคือการเรียกร้องต่อสาธารณะ คนที่อยู่ในละแวกสถานีขนส่งผู้โดยสาร ( บขส.) และคนที่ใช้บริการ บขส. เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนคนที่ยอมรับสารภาพก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคน ทุกคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน

“สำหรับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในฐานะที่เราเป็นประชาชน บอกตรงๆ ว่าเรายอมรับไม่ได้เพราะมันเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งจากการที่เราโดนคดีตาม พ.ร.บ.นี้ สิ่งที่เรายืนยันก็คือ เราต้องต่อสู้เพื่อที่จะยืนยันว่าการใช้เสรีภาพ และการปกป้องเสรีภาพมันควรที่จะเปิดกว้างให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในการนำเสนอ ไม่ใช่ใช้เงื่อนไขข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติคงยากที่จะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับนี้ แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมี พ.ร.บ.ชุมนุม เราก็ยังจะต่อสู้เพื่อยืนยันไม่ให้รัฐปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าทุกเรื่อง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ประชาชนถูกปิดกั้นการใช้เสรีภาพก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และผลที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้น”

  • การคัดค้านที่ยืดเยื้อ

การคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น เริ่มจากเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2554 กรมการขนส่งทางบกได้ติดประกาศที่สถานีขนส่งผูโดยสารขอนแก่นแห่งที่ 1 และ 2  แจ้งให้ย้ายเส้นทางการเดินรถปรับอากาศทั้งหมดและประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของ บขส.ขอนแก่น (สีส้ม) ไปอยู่ที่สถานีแห่งใหม่ (แห่งที่ 3) ทั้งหมด

ต่อมา วันที่ 8 พ.ย. 2554 มีประชาชนออกมาชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่นคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งดังกล่าว เนื่องจากสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และ 2 ตั้งอยู่ในเมืองขอนแก่น ใกล้สถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ศาล หรือศาลากลางจังหวัด ขณะที่แห่งใหม่อยู่ไกลจากตัวเมือง ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น และอาจมีอันตรายในระหว่างการเดินทาง เพราะยังไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ในละแวก บขส. แห่งที่ 1 มีผู้ค้ารายย่อยกว่า 300 ร้าน การย้าย บขส. จึงส่งผลกระทบให้กับกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้

นโยบายของกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ เนื่องจากมีกระแสคัดค้านของประชาชน แต่ความพยายามผลักดันก็ยังมีขึ้นเป็นระยะ ในปี 2556-2558 แต่ก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมคัดค้านทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีครั้งไหนที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้าน จนกระทั่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมีผลบังคับใช้

  • เสียงของผู้ได้รับผลกระทบหากมีการย้าย บขส.

นางฉลวย รัตนภักดี แม่ค้าขายเสื้อในย่าน บขส. หนึ่งในผู้ที่มารอให้กำลังใจอยู่นอกห้องพิจารณาคดี ในวันที่จำเลยทั้งเจ็ด  เข้ารับฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงขอนแก่น สะท้อนปัญหาเรื่องการย้าย บขส. ซึ่งเป็นต้นเหตุของคดีนี้ว่า หากย้าย บขส. ทั้งหมดไปรวมกันที่ บขส. แห่งใหม่ เราก็ต้องย้ายไปหาอยู่หากินที่ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้จะไปที่ไหน ที่นี่เราค้าขายกันมานาน รายได้ก็พอได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งลูกไปโรงเรียน แต่เขาเปลี่ยนที่ใหม่แล้วจะให้เราไปอยู่ไหน

ทั้งนี้ แกนนำในการคัดค้านการย้าย บขส. ไปรวมกันแห่งเดียว ที่ตกเป็นจำเลยและรับสารภาพในคดีนี้ เนื่องจากมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างนายบุญมี เต็งเจริญกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการย้าย บขส. ว่าการย้าย บขส.1 และ 2 ไปไว้ที่ บขส. 3 ที่เดียวนั้น เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ เนื่องจากสถานที่ราชการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และ บขส. 3 ห่างจากในเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งผลให้คนต่างอำเภอที่ต้องการเข้ามาทำธุระกับศูนย์ราชการต้องลำบากเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการต่อรถเข้าในเมือง รวมถึงการเอา บขส. เก่า 2 แห่งไปไว้กับ บขส. 3 ที่เดียวนั้นเป็นการกระจุกตัวเกินไป ควรจะทำให้ บขส.มีความหลากหลายในเรื่องสถานที่ เพื่อประชาชนจะได้มีสิทธิเลือกใช้บริการได้  ส่วนในเรื่องคดีเขากล่าวว่า ยังจะไปให้กำลังใจสำหรับคนที่ยังสู้ต่อ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง