ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครอง  และได้ออกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และนำความสงบสุขกลับคือนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว  โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น.  เป็นต้นไป  (ประกาศ 2/57)

            กฎอัยการศึกมี 17 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ  ดังนี้

  • เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนในเรื่องการยุทธ การระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย (ม.6)
  • ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีตามปกติ และฝ่ายทหารมีอำนาจประกาศให้คดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย  จะสั่งให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในศาลทหารก็ได้ (ม.7)
  • ทหารมีอำนาจที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ขับไล่ (ม.8)
  • มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจตรวจข่าวสาร จดหมาย สิ่งของ หนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์ (ม.9)
  • การห้าม มีอำนาจจะห้ามได้ (1) ห้ามมั่วสุมประชุมกัน (2) ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจกหนังสือ สิ่งพิมพ์ (3) ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ (4) ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร (5) ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร อาวุธ เคมีภัณฑ์ (6) ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (7) ห้ามเข้าไปอาศัย (8) อื่นๆ ตามที่รมต.กลาโหมกำหนด (ม.11)
  • การยึด มีอำนาจยึดส่งของที่เห็นว่าจำเป็น ไว้ชั่วคราวได้  เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรูหรือเพื่อประโยชน์แก่ราชการทหาร  (ม.12)
  • มีอำนาจกักตัวบุคคลที่สงสัยว่า ) เป็นราชศัตรู หรือ 2.) ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือ 3.)ฝ่าฝืนคำสั่งของทหาร ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายจับและหมายขังจากศาล และอาจควบคุมตัวไว้ที่ใดก็ได้  (ม.15 ทวิ)
  • ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ทหารใช้อำนาจตามกอัยการศึก บุคคลจะเรียกร้องค่าเสียหายจากทหารไม่ได้  (ม.16)

ในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว  อาจไม่มีการประกาศกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้อำนาจก็ได้  เช่น  แม้ไม่มีประกาศเรื่องการค้น  หรือการจับและกักตัว 7  วัน  เจ้าหน้าที่ทหารก็มีอำนาจค้นหรือกักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน  ตามกฎอัยการศึกหรืออาจมีการประกาศกำหนดข้อห้ามหรือคำสั่ง  เพื่อให้มีความชัดเจนก็ได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นเสียหาย  หรือเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากการใช้อำนาจหรือเกินขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายแล้ว  ผู้เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายทหารได้

ทหารจะใช้อำนาจกักบุคคลเพื่อซักถามหรือเมื่อมีความจำเป็นได้ไม่เกิน  7  วัน  หากเมื่อหมดความจำเป็นแล้วก็จะปล่อยตัวไป หากพบว่าผู้ถูกกักนั้นเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายก็จะส่งตัวให้กับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป  กรณีการดำเนินการต่อประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ หรือขัดต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร  เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้เพียงกักตัวไว้เพื่อไม่เกิน  7  วันเท่านั้น  จึงต้องพิจารณาว่าจะเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอื่นใดหรือไม่  ซึ่งหากกระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้[1]

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกักตัวซึ่งรวบรวมโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการกักตัวว่า  เมื่อมีการตรวจค้นหรือเชิญตัวบุคคลไปซักถามข่าวสาร  “ให้เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกเชิญตัวเพื่อซักถามข่าวสาร”  โดยบันทึกดังกล่าวให้ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และตัวแทนของผู้ถูกเชิญตัว  แต่การตรวจค้นที่เป็นส่วนรวม (ปิดล้อมตรวจค้น) ไม่ต้องจัดทำบันทึกนี้  ยกเว้นการตรวจค้นเพื่อนำตัวบุคคลใดไปสอบถามงานการข่าวในสถานที่ที่ทางราชการฝ่ายทหารกำหนด  การเชิญตัวหรือกักตัวบุคคลดังกล่าวนี้  มิใช่การควบคุมตัวหรือการขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ดังนั้นจึงไม่ต้องขอหมายศาล  ทั้งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดี  และกักตัวได้ไม่เกิน 7 วัน โดยนับตั้งแต่นำตัวมากักไว้ที่หน่วย (ของฝ่ายทหาร) ส่วนระยะเวลาการเดินทางมาที่หน่วยไม่นับรวมไว้ด้วย[2]

ปัจจุบัน  คสช.  ได้ออกประกาศกว่า  50  ฉบับ  และออกคำสั่งอีกกว่า 40 ฉบับ  ในการออกประกาศและคำสั่งของคสช.ดังกล่าว  บางประกาศเป็นการประกาศห้ามหรือขอความร่วมมือ  โดยไม่ได้กำหนดโทษไว้  เช่น  ประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน   แต่บางประกาศจะมีการกำหนดโทษไว้ด้วย  ซึ่งหากมีการฝ่าฝืน  ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย  เช่น  ประกาศฉบับที่  เรื่องการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมเกินกว่า 5 คน  หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท  หรือทั้งจำและปรับ  หรือหากฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัว  หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขเมื่อได้รับการปล่อยตัว  มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท  หรือทั้งจำและปรับ  ทั้งนี้  ซึ่งหากฝ่าฝืนประกาศแบบไม่มีการกำหนดโทษนั้น  แม้บุคคลจะไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ  แต่ก็อาจถูกจับกุมและกักตัวได้ตามความจำเป็นไม่เกิน 7 วัน  ตามกฎอัยการศึกม. 15 ทวิ

บุคคลอาจถูกจับและกักตัว  ได้หลายกรณี  ดังนี้

  1. กรณีถูกเรียกให้ไปรายงานตัว
    1. ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เมื่อบุคคลใดมีรายชื่อตามคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช.  และไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนดในคำสั่ง  บุคคลนั้นอาจได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น  หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่ง  แต่ถูกกักตัวได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว  ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 39/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เมื่อบุคคลใดมีรายชื่อตามคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวของคสช. แล้วไม่ไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนดในคำสั่ง  บุคคลนั้นอาจถูกจับและกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่งได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน   (อาจถูกกักครบ 7 วัน หรือไม่ถึง 7 วันก็ได้)  และจะถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัว  มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี  หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
  1. กรณีกระทำการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.
    1. ประกาศที่ไม่กำหนดโทษเช่นหากบุคคลฝ่าฝืนประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน บุคคลนั้นอาจถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น  หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ค่ายทหารที่ใดที่หนึ่ง  แต่ถูกกักได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
    2. ประกาศหรือคำสั่งที่กำหนดโทษ เช่น  ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง  หากบุคคลใดฝ่าฝืน  บุคคลนั้นอาจถูกจับ หรืออาจถูกกักตัวไว้ที่ใดที่หนึ่ง  ได้ตามความจำเป็นไม่เกิน  7  วัน และอาจถูกดำเนินคดีตามประกาศฉบับที่ 7 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่ในทางปฏิบัติอาจมีกรณีเจ้าหน้าที่พิจารณาปล่อยตัวก่อนครบกำหนด 7 วันโดยมิได้ดำเนินคดี ก็ได้  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57  อย่างเคร่งครัด  คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. กรณีถูกจับเนื่องจากเหตุอื่นๆ

แม้ไม่ได้มีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวหรือไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศคสช.  บุคคลก็อาจถูกจับและกักตัวตามกฎอัยการศึกได้  เช่น การเชิญตัวบุคคลโดยไม่มีคำสั่งหรือประกาศเรียกอย่างเป็นทางการ  กรณีเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบ้าน  ทั้งสองกรณีอาจมีการจับตัวและนำมากักตัวไว้ที่ค่ายทหาร  ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจได้รับการปล่อยตัวภายใน  7 วัน  แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศคสช. 40/57 อย่างเคร่งครัด คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และละเว้นการเคลื่อนไหวและการประชุมทางการเมือง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ในระหว่างการควบคุมตัวอาจมีการสอบประวัติเพื่อดูพฤติการณ์ที่ผ่านมาและออกมาตรการในการดำเนินการต่อไปก็ได้

 

ข้อสังเกต

  • พ.ร.บ. กฎอัยการศึก มาตรา ๑๕ ทวิ เมื่อเทียบกับ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๑ (๑) และมาตรา ๑๒  จะเห็นว่าไม่มีหลักเกณฑ์เป็นกรอบในการใช้อำนาจที่ชัดเจน  นักกฎหมายจึงควรพยามตีความการใช้อำนาจตามมาตร ๑๕ ทวิ ให้มีหลักเกณฑ์การใช้อำนาจโดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อ้างถึงและให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน

[1]การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนกบังคับใช้กฎหมาย  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า

[2]แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกักตัว แผนกบังคับใช้กฎหมาย  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน Knowledge

มาตราฐานสากลในเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลทหาร

มาตราฐานสากลในเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลทหาร[1]

แปลโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ในหลายๆ ประเทศก็มีศาลทหารที่ใช้ในพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำผิดวินัย  แต่ก็มีความห่วงกังวลว่าในบางประเทศขยายเขตอำนาจศาลทหารไปถึงการพิจารณาคดีพลเรือน หรือการพิจารณาคดีอาญาธรรมดาอื่นๆกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของทหาร หรือการกระทำอาชญกรรมที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

มีการพัฒนาให้แนวคิดที่จะให้ศาลทหารมีเขตอำนาจศาลที่จำกัดลง เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศาลทหารเท่านั้น  รวมทั้งการพัฒนาหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดย ตุลาการที่มีความเหมาะสม เป็นอิสระ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  อีกทั้งพัฒนาถึงภาระหน้าที่ของรัฐในการทำให้แน่ใจว่าศาลที่พิจารณาคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของทหาร หรือการกระทำอาชญกรรมที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศนั้นตรวจสอบได้

เมี่อมีการพิจารณาคดีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในศาลทหารสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต้องได้รับการเคารพในศาลทหาร นั้นหมายรวมถึงการพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำผิดวินัยในศาลทหารด้วย

การพิจารณาถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลทหาร หมายถึงการที่ศาลทหารมีเขตอำนาจศาลที่แน่นอนกำหนดไว้ในกฎหมายในประเทศและมีมาตราฐานสากล   ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอื่นๆต้องไม่มีอิทธิพลเหนือองค์คณะตุลาการทหาร การพิจารณาคดีในชั้นศาลก็ต้องทำโดยองค์คณะที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการอำนวยความยุติธรรมได้ องค์คณะตุลาการก็ต้องมีและถูกมองว่ามีความเหมาะสม เป็นอิสระ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และรวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาต้องสามารถได้รับหลักประกันขั้นตำในเรื่องมาตราฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ความเหมาะสม ความเป็นอิสระ และการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของศาลทหาร  เมื่อจะต้องมีการประเมินถึงความเป็นอิสระของศาลทหาร คำถามที่ควรจะถามหมายรวมถึงผู้พิพากษาที่โดยปกติเป็นเจ้าหน้าที่ทหารจบนิติศาสตร์หรือไม่  ขั้นตอนการแต่งตั้งตุลาการทหารเป็นอย่างไร  มีเงื่อนไขการทำงานและมีหลักประกันอย่างไรว่าตุลาการทหารจะเป็นอิสระในการพิจารณาคดี  ตุลาการทหารเป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาหรือไม่ หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างอัยการทหารและตุลาการทหารที่นั่งพิจารณาคดีร่วมกันในคดีเดียวกัน

การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารนั้นในบางประเทศ ศาลทหารมีเขตอำนาจศาลในการพิจารณาดคีพลเรือนที่กระทำความเสียหายต่อทรัพยสินของทหารหรือข้อหาคดีความมั่นคง แต่ก็มีการพัฒนาไปจนเป็นที่ยอมรับในทางสากลแล้วว่า ศาลทหารไม่ควรเป็นศาลที่พิจารณาคดีพลเรือนเพราะอาจทำให้การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นกลางและอาจาเป็นการฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาตว่าด้วยการควบคุมตัวไม่ชอบ (Working group on Arbitrary Detention) ได้เรียกร้องให้รัฐสมาชิกที่มีกำลังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงกฎหมายที่ยังอนุญาตให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนนั้นต้องสามารถยื่นคำร้องคัดค้านในเรื่องความเหมาะสมของศาลทหารได้

+++++++++

[1] สรุปย่อจาก Fair Trial Manual  องค์กรนิรโทษกรรมสากล จัดพิมพ์ปี 2557 หน้า 221-222

http://voicefromthais.wordpress.com/2014/05/28/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2/

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน Knowledge

จดหมายก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

เรื่อง  การจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำต่อประชาชน กรณีการเรียกให้บุคคลไปรายงานตัวหรือการกักตัวบุคคล

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้บุคคลไปรายงานตัวและมีการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 นั้น

จากกรณี การเรียกตัวหรือการกักตัวบุคคลดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ถึงแนวทางปฏิบัติตน หลักกฎหมาย รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน อีกทั้ง ยังเป็นการทำให้กระบวนการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปตามอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามหลักการสากล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่าย คณะทนายความ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย จึงรวมตัวจัดตั้ง “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” เพื่อดำเนินการให้คำแนะนำต่อประชาชนให้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามอุดมการณ์แห่งวิชาชีพทนายความต่อไป

เพื่อการดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงจัดให้มีอาสาสมัครและทนายความ ในการให้ความเห็นหรือข้อแนะนำเบื้องต้น และอาจเข้าสังเกตการณ์และติดตามบุคคลผู้ถูกเรียกตัวหรือผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความสงบเรียบร้อยและความสมานฉันท์ระหว่างกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน News Update

ใบแจ้งข่าว กลุ่มทนายความเปิด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

ใบแจ้งข่าว

กลุ่มทนายความเปิด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

เผยแพร่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

​            วันนี้ (28 พฤษภาคม 2557) คณะทนายความ รวมตัวเปิด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ให้คำแนะนำแก่ประชาชน  เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงกฎระเบียบ รวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในระหว่างมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศในขณะนี้

​            อีกทั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง ประกาศ และระเบียบเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากหลายฉบับ  รวมทั้งได้มีประกาศเรียกให้บุคคลเข้าไปรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจับกุม กักตัวบุคคล ตามกฎอัยการศึก อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจ และกังวลใจ คณะทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จึงรวมตัวกันเปิดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ รับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรวบรวมข้อมูลและทำฐานข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรม

​            ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะจัดให้มีทนายความและอาสาสมัคร ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการปฏิบัติตน รวบรวมข้อมูล รวมทั้ง เข้าร่วมสังเกตการณ์และให้คำแนะนำในพื้นที่ หากมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยหากประชาชนมีปัญหาต้องการคำแนะนำและคำปรึกษาเบื้องต้น ให้โทรศัพท์มาปรึกษาเบื้องได้ที่ 096-7893172 หรือ 096-7893173 เวลา 09.00 – 17.00 นาฬิกา หรือที่ tlhr2014@gmail.com

​            ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนและเชื่อมั่นต่อกระบวนการของเจ้าหน้าที่ ในแนวทางการปฏิบัติตนและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความสงบ เรียบร้อยและความสมานฉันท์ระหว่างกัน

ติดตามที่: https://www.facebook.com/lawyercenter2014

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน News Update

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

28 พฤษภาคม 2557

ตามที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดตั้งขึ้นตามหนังสือ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำต่อประชาชน กรณีการเรียกให้บุคคลไปรายงานตัวหรือการกักตัวบุคคล ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มุ่งหวังที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน และแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

ความเป็นมา

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้บุคคลไปรายงานตัวและมีการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชน ในแนวทางการปฏิบัติตนและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงควรให้มีอาสาสมัครและทนายความในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

วัตถุประสงค์

  1. เผยแพร่ความรู้
  2. รับเรื่องร้องเรียน
  3. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
  4. รวบรวมข้อมูลและทำฐานข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์

ขอบเขตการทำงาน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินงานโดยการให้คำแนะนำและคำปรึกษาเบื้องต้น หากกรณีที่ประชาชนถูกเรียกตัวหรือกักตัว เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองในการรวบรวมข้อมูล แก้ไขปัญหา และติดตามสถานการณ์ หากมีกรณีจำเป็นจะดำเนินการลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ช่องทางการร้องเรียน

กรณีที่ประชาชนมีปัญหาต้องการคำแนะนำและคำปรึกษาเบื้องต้น ให้โทรศัพท์มาปรึกษาได้ที่ 096-7893172 หรือ 096-7893173 เวลา 09.00 – 17.00 นาฬิกา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

By Thai Lawyers for Human Rights เขียนใน News Update