แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน”

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน”


ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ New E-Saan Movement
ซึ่งเป็นกิจกรรมการเดินเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตั้งแต่เริ่มกิจกรรมวันที่ 4 มิ.ย.59 ได้มีเจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายภาพการทำกิจกรรมโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และขณะทางกลุ่ม พักผ่อนอยู่ในบริเวณวัดเหล่าโดน ตำบลหนองแคน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และฝ่ายปกครองกว่า 20 นาย เข้ามาบังคับไม่ให้ทางกลุ่มนอนพักในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 พร้อมทั้งสอบถามและบังคับให้แอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ลบคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….หากไม่ลบทางกลุ่มจะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้


การกระทำดังกล่าวทำให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ต้องลบคลิปวีดีโอและภาพการเข้ามาเจรจาของเจ้าหน้าที่ทหารออกจากเพจ และเดินทางออกจากที่พักในเวลาประมาณ 18.30 น.ท่ามกลางความมืดโดยไม่มีจุดหมายว่าจะไปพักค้างคืนที่ใด จนทางกลุ่มต้องเดินเท้าออกจากจุดพักเดิมและปักหลักค้างคืนที่โรงพยาบาลราษีไศลในเวลาประมาณ 22.00 น.ห่างจากจุดเดิมเกือบ 10 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองจะบังคับให้ออกจากพื้นที่ตลอดเวลา


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและกระทำไปโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


1.บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงมีเสรีภาพที่จะแสดงออกรับหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กลุ่มขบวนการอีสานใหม่จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคลิปวีดีโอดังกล่าวในช่องทางของตน เพื่อเรียกร้องและกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย


2.การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่กดดันไม่ให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ และบังคับให้ลบคลิปวีดีโอในเพจขบวนการอีสานใหม่ ถือเป็นการแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)


3. การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องบังคับใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ  ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมไม่ใช่ผลักดันผู้ใช้สิทธิเสรีภาพให้ตกอยู่ในอันตรายมากยิ่งขึ้น การอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อปิดกั้นมิให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ดังกล่าวโดยมิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงเป็นการบังคับใช้ที่ไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน


4.กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าทางกลุ่มกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไล่บุคคลออกจากพื้นที่สาธารณะดังเช่นเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยอำเภอใจและปราศจากอำนาจทางกฎหมายมารองรับ


ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้


เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และมุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบคุกคาม กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ในทันที 


ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม การเคารพซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้นที่จะนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

                                                       ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ                                                            

                                                        ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Downlaodแถลงการณ์ได้ที่นี้Windows 7 printed documentแถลงการณ์กรณี Walk For Rights

ไม่ผิดจะกลัวอะไร : “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง”

คำสั่ง หน.คสช. “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง” Chapter II โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

“เมื่อรั้วของชาติ ทำลายรั้วของประชาชน”

สารคดีว่าด้วยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวประชาชนชาวไทยตามอำนาจที่ได้รับมาจากกฎอัยการศึกจนถึงคำสั่งจากหัวหน้า คสช.จริงหรือไม่ที่ทหารกำลังจะปราบมาเฟียตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

สารคดีชิ้นนี้จะเปิดเผยคำบอกเล่าจากบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจะมาเล่าข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าใครคือ “มาเฟีย” ตัวจริง

พร้อมบทความที่สะท้อนคำบอกเล่าของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ เป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจจาก คสช.ที่เป็นเพียงความชอบธรรมเดียว ทำให้ทหารสามารถควบคุมตัวประชาชนได้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายจับ ขัดกับหลักประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาและมีเสียงสะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศว่า อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

– การควบคุมตัวตามมาตรา 44

“ผมจะถามคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากแค่นั้นแหละ อย่างเช่นถามว่ามาทำแบบนี้กับไปใช้วิธีดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไหนถูกต้องกว่า … ถามทุกคนที่มา ถามเจ้าหน้าที่ทุกคน ระหว่างใช้มาตรา 44 กับไม่ใช้มาตรา 44 แล้วทำแบบนี้ได้ไหม…”

คืนวันที่ 9 มี.ค. 2559 สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ถูกทหารตำรวจอย่างน้อย 30 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวไปจากห้องที่ทำงาน ใน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรศัพท์มือถือของเขา โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบ ไม่มีหมายจับหรือแม้กระทั่งหมายค้น

อาศัยแค่อำนาจตามมาตรา 44 เพียงเท่านั้น เขาก็ต้องไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในค่ายทหารถึง 8 วัน โดยไม่ได้สมัครใจ หรือกระทำผิดกฎหมายใด

อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ว่านี้ ระบุให้ “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

อาจถือได้ว่า อำนาจตามมาตรา 44 ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่แทบจะเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้ซึ่งข้อจำกัด ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มักถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำมาอ้างเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหาร ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารในการตรวจค้น  ยึด  และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน  โดยไม่ต้องมีหมายศาล ใช้เพียงแค่ความสงสัยของทหารเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถกระทำการดังที่ว่านี้ได้


– กรณีควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

สราวุธ บำรุงกิตติคุณ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีผู้แจ้งว่าเขาเป็นพวกหมิ่นสถาบันและรับจ้างทำเพจการเมือง คือเพจ “เปิดประเด็น” ที่สราวุธทำเป็นงานอดิเรกด้วยตนเองคนเดียว ทำให้เขาถูกควบคุมตัวราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ตัวเขาเองไม่ชอบเฮทสปีช ไม่ชอบภาพตัดต่อใส่ร้าย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสถาบันหรือไรก็ตาม

คืนที่ถูกควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่พาสราวุธไปไว้ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต (มทบ.45) ก่อนจะนำตัวขึ้นเครื่องบินมายัง มทบ.11 กรุงเทพมหานคร และถูกกักอยู่ในห้องหน้าต่างปิดทึบ มีทหารเวรคอยเฝ้ากะละสามนาย เขาถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 ก่อนจะถูกส่งตัวกลับมาปล่อยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 16 มี.ค. 2559

“เขาก็พยายามโยง เขาคิดว่ามีต้นสาย ก็พยายามจะโยงให้ได้ เรื่องเครือข่าย ด้วยรูปแบบเพจ ด้วยรูปแบบเนื้อหา ด้วยภาษาที่ใช้ มันทำให้นึกว่ามีคนที่มีความรู้สูง ๆ ที่เรียนจบมาทางด้านกฎหมาย ทางด้านอะไรเป็นทีมงานกันหลายคน และมีการจ้างทำกราฟฟิก มีการจ้างทำทุกขั้นตอนอะไรแบบนี้ ภาพมันดูเหมือนว่าทำกันหลายคน ซึ่งจริง ๆ มันทำคนเดียวก็ทำได้ เขาพยายามถามว่ามีใครร่วมขบวนการบ้าง” สราวุธเล่าถึงการสอบสวนภายใน มทบ.11

ถึงจะไม่มีการทำร้ายร่างกายในกรณีของเขา แต่สราวุธก็ยอมรับว่าถูกข่มขู่ และมีความกังวลใจที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ในระหว่างนั้น

“แต่ว่าขนาดนั้นมันก็คือการจำกัดสิทธิแล้ว คือการจำกัดความเห็น มีข่มขู่ว่าจะให้ขึ้นศาลทหารอย่างนี้ ผมก็ฟุ้งซ่านไปเยอะ”

เป็นเวลากว่า 8 วัน ที่สราวุธถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร โดยไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ เช่นเดียวกับที่ญาติและทนายความต่างถูกปฏิเสธไม่ให้ติดต่อกับสราวุธ ในขณะที่โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่มีข้อมูลการควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

ตลอดระยะเวลา 8 วันนั้น สราวุธกลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือ “อุ้มหาย” ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว และปฏิเสธจะทราบชะตากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)

– กรณีควบคุมตัวแกนนำร้องเรียน เรื่องไล่รื้อบ้านเรือนและพื้นที่ประกอบอาชีพประมงริมชายหาด อ.เมือง จ.ระยอง

หลังการควบคุมตัวสราวุธในอีก 20 วันถัดมา เช้ามืดวันที่ 29 มี.ค. 2559 ชาวระยองสามคนถูกทหารควบคุมตัวจากบ้านพักไปยังค่ายนวมินทราชินี (มทบ.14) จ.ชลบุรี

“โอ๊ย! ทำไมมาเยอะแยะ อย่างกับจับเสือ จับโจร ทหารมาเยอะ หลายคัน เป็นแถวเลยตรงหน้าบ้าน ชาวบ้านก็แตกตื่นออกมาดู ก็ตกใจทหารมาเยอะ”ละม่อม บุญยงค์ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์วันนั้น ก่อนที่ตัวเขา อนันต์ ทองมณี และรังสรรค์ ดอกจันทร์ จะถูกพาตัวไปที่ค่ายมหาสุรสิงหนาท (พัน ร.7) ที่ จ.ระยอง แล้วจึงส่งตัวต่อไปยัง มทบ.14 จ.ชลบุรี

“ถามว่ามาเชิญเรื่องอะไร เขาก็บอกว่ามันมีข่าวมาว่าลุง พวกลุงสามคน จะก่อม็อบ ชวนชาวบ้านทั้งหมดก่อม็อบไล่นายอำเภอ ลุงก็งง มันไม่เคยมีความคิดของลุงที่จะไปก่อม็อบอะไรพวกนี้ แล้วชาวบ้านหยิบมือแค่นี้จะไปก่อม็อบทำไม”

เช่นเดียวกับอนันต์ ทองมณี ที่ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอย่างที่ทหารอ้าง “คือกล้าพูดและกล้าแสดงออก กล้ามีจิตอาสาที่จะทำเพื่อชาวบ้าน คือกล้า ถ้าถามว่าจะกล้าไปก่อม็อบนั่นไม่กล้าหรอก บอกท่าน ผบ. ผมไม่ได้คิดทำอะไรท่านไปสืบดูได้ ไปสืบถามชาวบ้านว่า ณ วันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันไหม รวมตัวไหม ไม่มี”

แม้ปรากฏข้อเท็จจริงดังว่า แต่ทั้งสามคนก็ต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ มทบ.14 หนึ่งคืน และถูกยึดโทรศัพท์ไว้ ก่อนจะปล่อยตัวในเช้าวันถัดมาโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายใด


– การควบคุมตัวที่มีราคาต้องจ่าย

จุดร่วมของสี่คนนี้ คือการถูกจับจากข่าวที่ทหารได้รับ นำตัวพวกเขาไปไว้ในค่ายทหาร และปล่อยตัวออกมาหลังจากพบว่าไม่มีใครทำผิดตามที่ถูกสงสัย

“เรียกว่ามันเกิดความผิดพลาดที่เขา หน่วยข่าวกรองเขา การกรองข่าวเขามันผิดพลาด การกรองข่าวเขาว่าเขาจะต้องได้อะไรที่มันใหญ่โต ได้คนผิดแน่นอนอะไรอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วเขาไปได้เอาประชาชนธรรมดาที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างบริสุทธิ์ใจ สุจริต” สราวุธให้ความเห็น

ไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว เนื้อความที่ผู้นำทหารย้ำผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้งเมื่อถูกถามถึงมาตรการที่นำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านมาตรา 44 เห็นได้ว่า กรณีตัวอย่างทั้งสี่คนนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายใด ๆ ตามมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้

“นอกจากเสียเวลาไป 7-8 วันในการถูกควบคุมตัวแล้วยังต้องมานั่งตั้งสติ เรียกขวัญตัวเองอีก 4-5 วัน แล้วต้องมานั่งเช็คคอมพิวเตอร์อีก 3-4 วันอย่างนี้ กว่าจะเรียกกลับมาได้ก็เสียหายไปเยอะนะ” สราวุธชี้แจงในกรณีของเขา

อดีตแอดมินเพจเปิดประเด็นเล่าว่า คอมพิวเตอร์ของเขาเสียหายในส่วนของเมนบอร์ดและพาวเวอร์ซัพพลาย สายฮาร์ดดิสก์และฮาร์ดดิสก์บางตัวหลุดออกมา คล้ายกับถูกถอดเพื่อรื้อดูข้อมูลในนั้น ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหาย อ่านข้อมูลไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เขาเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ไว้

นอกจากนี้ เขายังถูกบีบให้ต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขของ คสช. เพื่อจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวระบุว่า จะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต ละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ และเมื่อไหร่ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เขายินยอมที่จะถูกดำเนินคดีและถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน อันเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่เพิ่มเติมคือ สราวุธถูกทหารสั่งให้ปิดเพจเปิดประเด็นอีกด้วย

เช่นกันกับที่ระยอง ละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ถูกห้ามรวมตัวกัน หรือไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก

“เขาก็บอกสั่งมาว่า ถ้ามานี่แล้วอย่าไปรวมตัวกันอีก อย่าไปอยู่กับคนหมู่มาก ถ้าเขาถ่ายรูปลุงอยู่ในคนหมู่มากอีก เขาจะเชิญมาอีก ทีนี้จะมาอยู่หลายวัน เขาว่าแบบนั้น” ละม่อมเล่าถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ถูกกำชับมาจากฝ่ายทหาร

อย่างไรก็ตาม ที่ จ.ระยอง นั้นดูเหมือนการควบคุมตัวและตั้งเงื่อนไขของ คสช. จะยิ่งส่งผลกระทบหนัก เมื่อคนที่ถูกควบคุมตัวไปคือหัวหน้าครอบครัว ผู้มีภาระหน้าที่ดูแลอีกหลายชีวิตในบ้าน

“มาจับผมทำไม ทางนี้ก็เดือดร้อนสิ หมึกก็ไม่มีใครไปซื้อ นั่นก็ไม่มีใครไปซื้อ ตาย มันเดือดร้อนนะ ถ้าอยู่สามวัน ครอบครัวผมจะทำไง มีกินไหม ลูกเต้าจะทำไง เพราะว่าเงินต้องอยู่กับผม ตื่นเช้ามาค่าใช้จ่ายอยู่กับผมหมด ทางนี้จะทำไง เอทีเอ็มก็อยู่กับผมหมด จะทำยังไงทีนี้” อนันต์เล่าถึงความร้อนใจระหว่างถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ ทั้งละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ต่างเป็นกลุ่มชาวประมงเรือเล็กและประกอบอาชีพแปรรูปอาหารทะเลริมชายฝั่ง ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่รื้อที่อยู่ของพวกเขาบริเวณชายหาด ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อขอให้รัฐจัดพื้นที่รองรับสำหรับผู้ได้รับผลกระทบเสียก่อน แต่เมื่อมีเงื่อนไขห้ามรวมตัวดังกล่าวแล้ว กระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก็เกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่กล้าคัดค้านอะไรอีกต่อไป


เขาบอกว่าให้ทำตามมติที่ประชุม จับมือทำตามมติที่ประชุมเลย คือรื้อ บอกให้รื้อเลย แล้วห้ามให้เราเข้าไปในที่ที่มีคนมาก ห้ามประชุมชาวบ้านห้ามอะไร เราก็ไม่ทำ เราก็ไม่เคยเข้าไป แม้แต่จะไปงานบวชเขาเรายังไม่ไปเลย กลัวเขาจะมาเชิญเราอีก กลัวเดือดร้อน ไปงานแต่งก็กลัวที่มีคนเยอะ ๆ เพราะเขาห้ามไว้แล้ว” อนันต์เล่าถึงสถานการณ์หลังได้รับการปล่อยตัว

ปัจจุบันนี้ อนันต์อาศัยอยู่ในเพิงผ้าใบที่ทางเทศบาลนำมาตั้งไว้ เนื่องจากบ้านถูกรื้อทำลายตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดของ คสช. ซึ่งนโยบายนี้ได้หอบเอาวิสาหกิจชุมชน ต.ปากน้ำ และธนาคารปูหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณชายหาดอีกด้วย


จะจัดยังไงก็ให้มีที่รองรับให้กับเรามั่ง ให้คนจน ๆ ระบบรากหญ้าได้มีที่ยืน ได้มีที่ทำกิน ไม่ใช่มารื้ออาชีพดั้งเดิมเขา ไม่ใช่ไม่มีที่รองรับอะไรเขาเลย อย่างนี้มันเดือดร้อนครับ มันเดือดร้อน ถามทุกคนได้ บางคนร้องไห้เลย มีภาพทหารมาหิ้ว ร้องไห้ ก็หมดตัวน่ะ คนเราหมดตัวจะทำไง

วันนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ ตามคำสั่งของเทศบาล เขียนไว้ว่าที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ผมก็จำเป็นจะต้องมานั่งกินตรงนี้ นอนกินตรงนี้ เพื่อรออะไร รอให้เขาได้จัดสรร ได้เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็อยากรู้ ท่านจะทนเห็นได้ไหมกับคนที่ถูกล้มล้างอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายต้องมาเป็นอย่างนี้” อนันต์เปิดปากเล่าท่ามกลางเครื่องเรือนและอุปกรณ์ทำกินกองระเกะรกะภายใต้เพิงผ้าใบที่เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน

เวลา สภาพจิตใจ ทรัพย์สิน บ้าน อาชีพ และสิทธิที่จะเรียกร้องชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง คือสิ่งที่เสียหาย หรือถูกทำลายไปหลังการควบคุมตัวทั้งสี่คน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

หากไม่ผิดจะกลัวอะไร คงเป็นคำตอบที่ คสช. อยากจะย้ำกับสราวุธ ละม่อม อนันต์ รังสรรค์ และคนไทยคนอื่นอีกหลายล้านคน เพื่อให้ยังคงสามารถใช้อำนาจควบคุมตัวประชาชนได้ต่อไปไม่รู้จบ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสี่ และอาจมีอีกมากมายนับพันคนที่ถูกควบคุมตัวโดย คสช. เราอาจต้องเริ่มเปลี่ยนคำถามมาเป็นหากปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ ถึงไม่มีความผิด ใครเลยจะกล้าการันตีว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียอะไรไปอีกมากต่อมากเท่าไหร่.

ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ บุญงามอนงค์ 2 เดือน คดีไม่ไปรายงานตัว

photo_2016-06-30_13-06-42

วันนี้ (30 มิ.ย.59) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

………………………………………………………………………………….

photo_2016-06-30_13-05-59

สรุปคำอุทธรณ์ของจำเลย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยสรุปความได้ว่า จำเลยเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า “…เห็นว่า โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวเป็นโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แล้ว โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป แตกต่างไปจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง”

นอกจากนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

2.โจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากบบรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ไปรายงานตัว “โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร” และยังไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวที่ไม่สมควรอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด… ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้  ศาลจึงไม่อาจยกข้อโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บรรดาประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดของ คสช. นับแต่วันที่ยึดอำนาจการปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกประกาศ หรือคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ ได้

ต่อมา 24 พ.ค. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พ.ค. 2557 ถือว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวมีผลต่อจำเลยนับแต่วันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หากจะถือตามประเพณีการปกครองของไทย ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ที่ออกในวันที่ 23 พ.ค. 2557 ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นการออกคำสั่งหรือประกาศก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งหัวหน้า คสช. ในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลย้อนหลัง ซึ่งจำเลยเห็นว่า จะนำมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาปรับใช้กับจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคล โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป ซึ่งขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ของกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นนำข้อกฎหมายในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณารับรองสถานะของ คสช. เพื่อย้อนหลังเอาผิดและลงโทษจำเลย ยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 12 ที่ว่า “บุคคลใดจะถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำหรือเว้นการกระทำใด ๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้”

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 15  ที่ว่า “บุคคลย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ซึ่งในขณะที่กระทำไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายภายใน”

หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 รวมถึงถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากขณะออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับการแต่งตั้ง สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ดังนั้น ขณะออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้น ได้กระทำไปโดยมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยขอเรียนว่า จำเลยมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และจำเลยยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”

ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ที่ว่า “สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนคำสั่งได้ที่นี่

 

 

บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

 

 

เกริ่นนำ

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 

ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475

แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการประกาศหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและหลัก 6 ประการ ที่สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับรวบอำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไว้ในมือของ คสช. โดยเบ็ดเสร็จพร้อมยกเว้นความรับผิดตนเองไว้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศตนเองเป็นรัฐฏาธิปัตย์ หรือผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งที่ไม่ได้มีฐานที่มาใด ๆจากปวงชน และสถาปนาระบบอำนาจ คสช. ที่ไม่เปิดให้ประชาชนสามารถโต้แย้ง คัดค้านหรือได้รับการเยียวยาจากการใช้อำนาจของรัฐ แม้แต่ศาลเองก็มีคำวินิจฉัยในลักษณะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวในหลายคดี จนกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนถูกลิดรอนไปทั้งหมดตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา อ่านเพิ่มเติม

ศาลยุติธรรมเห็นพ้องคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ศาลทหารเผยต่อจำเลยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ศาลแขวงปทุมวันเห็นพ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ด้านทนายความยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินัยว่า ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากกรณีนางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายจำเลยคดีที่นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง  จากการจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน โดยศาลทหารกรุงเทพส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลแขวงปทุมวันไปแล้วนั้น

วันนี้ (10 มิถุนายน 2559) ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องข้อโต้แย้งเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี มีสาระว่าศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นพ้องกันว่า คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ โดยไม่ได้อ่านความเห็นของศาลแขวงปทุมวันให้ทนายความและจำเลยในคดีนี้ฟังแต่อย่างใด

หลังจากนั้นทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องให้ศาลทหารเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

Screen Shot 2016-06-10 at 4.36.28 PM.png

อัยการศาลทหารกรุงเทพจึงแถลงต่อศาลทหารกรุงเทพขอทำคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวด้วย แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป

สำหรับรายละเอียดคำร้องเบื้องต้นของทนายจำเลยที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลและพิจารณาพิพากษาในคดีดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมีดังต่อไปนี้

1. พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 และมาตรา 10 ขัดหรือแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพราะในมาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 ระบุว่าอำนาจในการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและยังดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษา คสช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศ คสช.มาบังคับใช้เอาผิดกับจำเลยทั้ง 4 คน

Screen Shot 2016-06-10 at 4.37.51 PM.png

 

2. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ที่ทำให้จำเลยทั้ง 4 ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารนั้นเป็นการเลือกปฎิบัติโดยอาศัยเหตุความแตกต่างจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น และประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับก็ขัดกับ มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  ที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองของประเทศและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้เมื่อศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยคำร้องของทนายจำเลยแล้วจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศของ คสช.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลทหารกรุงเทพเคยมีคำสั่งจากการวินิจฉัยคำร้องลักษณะดังกล่าวแล้วคือ  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558  ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งในเรื่องที่นางสาวจิตรา คชเดชยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

โดยศาลทหารกรุงเทพเคยมีคำสั่งว่า ศาลทหารกรุงเทพไม่อาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะ ตามมาตรา 5 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้นที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่สามารถส่งเรื่องดังกล่าวได้

Screen Shot 2016-06-10 at 4.39.55 PM.png

แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคำร้องของทนายจำเลยคดีคดีที่ยื่นให้ศาลทหารในวันนี้  ก็จะพบว่า ในคำร้องดังกล่าวได้ระบุให้ศาลทหารกรุงเทพมีหน้าที่ส่งคำร้องนี้แก่ศาลรัฐธรรมแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติถึงอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญไว้เหตุเพราะหากพิจารณาตาม มาตรา 5 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้การกระทำนั้นหรือวินิจฉัยนั้นไปตามประเพณีการปกครอง

นอกจากนี้ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิฉัยว่า บทบัญญัติในกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องฉบับนี้ของจำเลยได้

Screen Shot 2016-06-10 at 4.41.22 PM.png