‘หนุ่มเชียงใหม่’ ให้การปฏิเสธข้อหาม.112 ปลอมเฟซบุ๊กโพสต์หมิ่นฯ- ขณะศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับ

24 มิ.ย.59 ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสอบคำให้การในคดีของนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกอัยการทหารฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จากการถูกกล่าวหาว่าได้ปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นใช้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ศาลทหารได้อ่านคำฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 จำเลยได้นำข้อความและภาพถ่ายปลอมเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่น และโพสต์วิดีโอและภาพประกอบด้วยข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ นายวิชัยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลทหารจึงได้ให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ตุลาคม 2559

อัยการทหารยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เหตุเป็นคดีความมั่นคง ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้พิจารณาลับตามคำร้องของอัยการ ทางฝ่ายจำเลยจึงจะจัดทำคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีอาญา จึงต้องพิจารณาโดยเปิดเผย

สำหรับนายวิชัย อายุ 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 65/2558 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ก่อนจะถูกฝากขังต่อศาลทหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) (3) (5) โดยนายวิชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฝากขังครั้งที่ 6 “หนุ่มเชียงใหม่” ม.112 ปลอมเฟสบุ๊กโพสต์หมิ่นสถาบันฯ

บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

 

 

เกริ่นนำ

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 

ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475

แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการประกาศหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและหลัก 6 ประการ ที่สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับรวบอำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไว้ในมือของ คสช. โดยเบ็ดเสร็จพร้อมยกเว้นความรับผิดตนเองไว้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศตนเองเป็นรัฐฏาธิปัตย์ หรือผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งที่ไม่ได้มีฐานที่มาใด ๆจากปวงชน และสถาปนาระบบอำนาจ คสช. ที่ไม่เปิดให้ประชาชนสามารถโต้แย้ง คัดค้านหรือได้รับการเยียวยาจากการใช้อำนาจของรัฐ แม้แต่ศาลเองก็มีคำวินิจฉัยในลักษณะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวในหลายคดี จนกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนถูกลิดรอนไปทั้งหมดตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา อ่านเพิ่มเติม

ศาลทหารรับคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยเขตอำนาจศาล เลื่อนสอบคำให้การคดีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงและแผนผังทุจริตราชภักดิ์

9 มิ.ย.2559 ศาลทหารนัดสอบคำให้การ ฐนกร ศิริไพบูลย์ จำเลยในคดีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กดไลค์เพจ และโพสต์แผนผังทุจริตราชภักดิ์รวมทั้งหมด3กรรม อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ฟ้องฐนกรในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, 116 และม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ซึ่งฐนกรได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ในนัดครั้งนี้ จำเลยขอเลื่อนถามคำให้การ และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2552 เนื่องจากเห็นว่าคดีของตนอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรม โดยให้เหตุผลในประเด็นพฤติการณ์ของคดีดังนี้

  1. การกดไลค์เพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอายามาตรา 112 เนื่องจากไม่ได้เป็นการกดแชร์ข้อความดังกล่าวโดยตรง
  2. การโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของจำเลย เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม ม.112 เนื่องจากสุนัขทรงเลี้ยงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตรานี้
  3. การโพสต์ภาพแผนผังการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่มีภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและติชมการบริหารราชแผ่นดินของรัฐบาลโดยสุจริต ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้และได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และโพสต์ดังกล่าวก็ไม่มีข้อความปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

ในคำร้องยังระบุอีกว่าตามข้อเท็จจริงที่กล่าวไปข้างต้นนี้ คดีของฐนกรจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารเนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทั้งมาตรา 112 และ 116 ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุให้อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารแล้ว ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/57

นอกจากประเด็นพฤติการณ์ของคดีแล้วยังมีฐนกรมีสถานะเป็นพลเรือน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/57 ยังขัดกับมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (1)และ (5) ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย และกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจในการออกประกาศดังกล่าวได้ถูกประกาศยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2558 ประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองจึงสิ้นผลตามไปด้วย

โจทก์เห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่ไม่คัดค้านการเลื่อนนัดสอบคำให้การ ศาลจึงสั่งให้เลื่อนนัดสอบคำให้การออกไป โดยให้โจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน เพื่อทำความเห็นส่งศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อศาลจังหวัดสมุทรปราการทำความเห็นส่งมาแล้ว ศาลจะได้นัดคู่ความมาฟังความเห็นหรือคำสั่งศาลต่อไป

ศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 จำเลยคดี 112 แอบอ้าง ‘พระเทพฯ’ ขณะนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 ส.ค.

6 มิ.ย.59 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์กับทางวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

ก่อนหน้านี้ จำเลยอีกสองคนในกรณีเดียวกัน ได้แก่ นายกิตติภพและนายวิเศษ ได้ยื่นขอกลับให้การ เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ศาลจึงได้พิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.59 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน (ดูรายงานข่าว)

ขณะที่ นางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ ยังยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ และศาลได้นัดพร้อมคดีใหม่ โดยจำเลยทั้งสองได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี ศาลจึงให้คู่ความนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ส.ค.59 เวลา 9.00 น.

นอกจากนั้นนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 และทนายความ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ใช่บุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าการขอให้ศาลขี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบความผิดมาตรา 112 เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ แม้จะวินิจฉัยก็ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ โจทก์ยังคงต้องนำสืบพยานในข้อหาอื่นอีก จึงเห็นควรให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นก่อน และรอวินิจฉัยพร้อมกับคำพิพากษา

ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในการนัดพร้อมคดีในครั้งแรก ศาลก็วินิจฉัยว่าให้รอไว้พิจารณาพร้อมกับคำพิพากษาเช่นกัน แต่ในการอ่านคำพิพากษาในคดีที่จำเลยทั้งสองรับสารภาพดังกล่าว ศาลไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ จึงยังไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาในส่วนดังกล่าว

ภายหลังการสอบคำให้การ ญาติของนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 1.7 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และมีหลายข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี โดยนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่จำเลยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต

IMG_8292

บิดาของนายนพฤทธิ์เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี และรอเข้าเยี่ยมลูกชาย

เหตุในกรณีนี้ กลุ่มจำเลยสี่คนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ ปัจจุบันอายุ 29 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี และทำงานเป็นพนักงานของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นายนพฤทธิ์ระบุว่าเขารู้จักกับนายวิเศษ จำเลยอีกคนในกรณีนี้ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยอีกสองคนมาก่อน แต่นายวิเศษได้มาชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58 แต่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างตามข้อกล่าวหา ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ แต่มาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับมาควบคุมตัวเมื่อวันที่ 21 ส.ค.58 และไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้น

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คดีแอบอ้าง “สมเด็จพระเทพฯ” ที่ศาลกำแพงเพชร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหา

สองจำเลยคดีม.112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ด้านอีกสองจำเลยยืนยันปฏิเสธข้อหา

ศาลพิพากษาสองจำเลยคดี 112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ จำคุก 7 ปี 4 เดือน

จำเลยคดียื่นคำร้องถึงนายกฯผิด 112 ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 24 สิงหาฯนี้

ศาลทหารนัดสอบคำให้การผู้ต้องหาคดีม.112 จากการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ประจักษ์ชัยให้การปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน24 ส.ค.2559

30พ.ค.2559 ศาลทหารกรุงเทพ เวลา8.30น. ประจักษ์ชัย(สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ม.112 จากการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ กพร. เมื่อวันที่ 19ก.พ.2558เดินทางมาตามนัดสอบคำให้การที่ศาล จากนั้น 10.00น.ศาลจึงเริมพิจารณาคดี

ศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2558 ที่ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ประจักษ์ชัย จำเลยในคดีนี้ ได้เขียนข้อความบันทึกข้อร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยศาลได้อ่านข้ามในส่วนของข้อความซึ่งเป็นพฤติการณ์ในคดีนี้ การกระทำดังกล่าวป็นการล่วงละเมิดและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมปากกาและกระดาษที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลางโดยเก็บรักษาไว้ที่ สน.ดุสิต โจทก์ได้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษ และขอให้ริบปากกาที่ใช้ในการกระทำความผิดไว้

ศาลถามคำให้การประจักษ์ชัย ทนายของประจักษ์ชัยจึงขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากก่อนมาศาลได้กินยารักษาอาการของโรคจิตเภท โดยคำให้การบรรยายว่าจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนถึงขณะนี้จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหลงผิด อีกทั้งยังมีเชาว์ปัญญา(IQ) 74 ซึ่งเป็นระดับปัญญาทึบมาก ตามผลการตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในชั้นพิจารณาและขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน

อัยการไม่คัดค้านคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรของจำเลย แต่ได้คัดค้านคำร้องขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานโดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากมีพยานในคดีน้อย ทนายความแถลงต่อศาลว่าเนื่องจากเห็นว่ายังมีพยานและเอกสารที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของจำเลยและยังมีเอกสารการรักษาอาการทางจิตทั้งก่อนก่อเหตุจนกระทั่งถึงหลังก่อเหตุ อีกที่ยังต้องขอให้ศาลมีหมายเรียกมาใช้ในการประกอบการพิจารณาคดี ศาลได้อนุญาตให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24ส.ค.2559

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ทนายความของประจักษ์ชัยได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาเพราะเห็นว่าศาลไม่ได้จดคำให้การของประจักษ์ชัยที่ได้ยื่นเป็นลายลักษณ์ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 ประกอบกับ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ม.45 จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลทหารมีคำสั่งพิจารณาคดียื่นคำร้องหมิ่นสถาบันฯ ต่อ หลังจิตแพทย์มีความเห็นจำเลยสู้คดีได้แล้ว

ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดียื่นคำร้องหมิ่นฯชั่วคราว จนกว่าหมอรักษาอาการดีขึ้น