ยกอีก! ศาลอ้างคุมตัวตามคำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (17 ธ.ค.58) ศาลยกคำร้องขอให้ไต่สวนการควบคุมตัว นายธเนตร อนันตวงศ์ หรือ ตูน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา ม. 90 เนื่องจากเห็นว่าเจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 และคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารตามคำสั่ง คสช. 37/2557 ในวันนี้พ่อและเพื่อนๆ ของนายธเนตรได้เดินทางมาเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณาเลขที่ 912  เวลาประมาณ 16.00 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่ง กรณีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการควบคุมตัว นายธเนตร อนันตวงษ์ ครั้งที่สองเมื่อวานนี้ ศาลได้ยกคำร้องโดยมีความเห็นสรุปว่า สิทธิในการร้องขอให้ปล่อยตัวจากการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่คุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสารท้ายคำร้องที่ผู้ร้องได้ยื่นมาว่ามีการควบคุมตัวนายธเนตร ตามหมายจับของศาลทหารในความผิดตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และ ความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้นการจับกุมและการควบคุมตัวนายธเนตรตามที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่ชอบจึงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ได้ประกาศให้ความผิดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร และยังมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ฉะนั้นการควบคุมตัวนายธเนตรจึงไม่ใช่การควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฏหมาย ให้ยกคำร้อง

กรณีดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากเมื่อวาน(16 ธ.ค.58) นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปจากโรงพยาบาลสิรินธรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้เข้าควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ ไม่ได้นำตัวนายธเนตร ไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่นายธเนตรถูกจับในทันที(สน.ประเวศ) เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้แก่นายธเนตรทราบ และได้ควบคุมตัวไว้เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้คือ 48 ชั่วโมง โดยไม่ได้นำตัวไปขอฝากขังที่ศาล ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งในวันนี้

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า

1. ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลตามที่ศาลอาญากล่าวอ้างว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหารตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 นั้น เป็นคนละกรณีกับการยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ต้องใช้หลักทั่วไปคือศาลอาญามีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีทั่วประเทศ

2. ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่า เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้อง ถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกคุมขัง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดง ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

แต่การยกคำร้องของศาลอาญาทั้ง 2 คดี(หมายเลขคดีดำ ษ 98/2558 และคดีดำ ษ 99/2558)ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ได้ดำเนินการไต่สวนนายสิรวิชญ์ผู้ร้องตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 กำหนดไว้แต่อย่างใด ทั้งที่กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วให้ศาลดำเนินการไต่สวน กรณีดังกล่าวศาลจึงต้องทำการไต่สวนก่อนมีคำสั่งในคำร้อง การยกคำร้องในทันทีจึงเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าคำสั่งคำร้องดังกล่าวมีความสับสนเนื่องจากศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหากศาลเชื่อข้อเท็จจริงดังกล่าว การจับกุมนั้นยิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากนายธเนตรถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13ธ.ค.2558 ซึ่งจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นนายเธนตรถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาตามกฎหมายกำหนดแล้ว ศาลยิ่งมีหน้าที่ต้องทำการไต่สวนเนื่องจากควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่

4. การทำคำสั่งของศาลนั้นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายแล้วจึงวินิจฉัยว่า การควบคุมตัวดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลอาญายกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าแม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 นั้นให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วันจริง แต่ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงในสำนวนเลยว่า บุคคลใดเป็นคนควบคุมตัว เป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ และเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคสช.หรือไม่ หรือการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นแม้ศาลจะพิจารณาข้อกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจแล้วแต่ในสำนวนยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการควบคุมตัวดังกล่าวกระทำโดยอาศัยกฎหมายใด โดยเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหรือไม่และกระทำตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบจึงเป็นหน้าที่ของศาลในการตรวจสอบถ่วงดุลเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่รับรองอำนาจของเจ้าหน้าที่โดยปราศข้อเท็จจริง

มาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญานั้นเป็นมาตรการซึ่งรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกำหนดให้อำนาจศาลในการตรวจสอบถ่วงดุลการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ การที่ศาลพิจารณาจากคำร้องโดยไม่มีการไต่สวน และพิจารณาโดยไม่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติย่อมเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของมาตรา 90 เองซึ่งบัญญัติมาให้ศาลทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจ การยกคำร้องด้วยเหตุผลดังกล่าวยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบ ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพและถูกละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องศาลปล่อยตัวธเนตร ถูกคุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังผลพรุ่งนี้บ่าย

ศาลยกคำร้องจ่านิวขอให้ไต่สวนกรณีคุมตัวธเนตรไม่ชอบด้วย กม.

ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวธเนตรรอบสอง เหตุถูกควบคุมตัวมิชอบ

ใส่ความเห็น