ทนายฝ่ายจำเลยร้องไต่สวนอาการทางจิต คดี “บัณฑิต ม.112” จิตแพทย์ชี้ยังสู้คดีได้ ศาลทหารสั่งสืบต่อ

วานนี้ (11 ก.พ. 2559) ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนจิตแพทย์คดีตามมาตรา 112 ของ นายบัณฑิต อานียา นักเขียนวัย 74 ปี หลังบัณฑิตเข้ารับตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตั้งแต่ตุลาคม 2558 ตามคำร้องขอให้ศาลส่งตรวจอาการวิกลจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ทนายความยื่นต่อศาลไว้

โดยศาลไต่สวนความเห็นของนายแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาฯ เพื่อประกอบรายงานที่แพทย์ได้ยื่นส่งต่อศาลก่อนหน้านี้

แพทย์เบิกความตามรายงานว่า “ลุงบัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บป่วย ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง มีเเนวโน้มก่อคดีซ้ำ จึงควรได้รับการรักษาต่อเนื่อง ขณะประกอบคดีรู้ผิดชอบ” และได้เบิกความเพิ่มเติมจากรายงานต่อไปว่า “จำเลยมีความคิดยึดติดกับเรื่องบางเรื่อง และการรับรู้ความเป็นจริงอ่อนด้อยกว่าคนทั่วไป”

ศาลถามแพทย์ว่า ลุงบัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ทางแพทย์จึงตอบว่าสามารถต่อสู้คดีได้ ทนายความจึงถามผ่านศาลว่า ถ้าจะนิยามอาการของบัณฑิตเป็นจิตเภทหรือวิกลจริตได้หรือไม่ จิตเเพทย์จึงตอบว่า จิตเภทเป็นส่วนหนึ่งของอาการวิกลจริต เพราะคำวิกลจริตนั้นกว้างมาก

หลังจากนั้นศาลจึงแถลงว่าคดีนี้บัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้และนัดสืบพยานโจทก์ คือ ส.ท. พิชาญ วรรณกี้ และ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ ในวันที่ 4 พ.ค. 59 เวลา 8.30 น

ทั้งนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในระหว่างทําการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลเเล้วเเต่กรณีสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร้จเเล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด”

โดยทั่วไปแล้ว ในกรณีที่จำเลยเป็นผู้วิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้นั้น หากดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพบว่าขณะกระทำความผิดนั้นจำเลยวิกลจริต จำเลยก็อาจได้รับการยกเว้นโทษ หรือศาลอาจใช้ดุลพินิจ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ ตาม ป.อาญา มาตรา 65

ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์เคยยื่นคำร้องลักษณะนี้ในหลายคดี โดยคดีนี้เป็นคดีที่สองในศาลทหารที่ศาลส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตและสืบจิตแพทย์ประกอบ โดยในคดีก่อนหน้านี้ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดี (ดูคดีก่อนหน้านี้ที่: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/20/prajakchai112/)

ใส่ความเห็น