โพสต์ไม่ลบเป็นความผิดต่อเนื่อง คกก.วินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลให้คดีรุ่งศิลาขึ้นศาลทหาร

วันนี้ (20 ม.ค. 2559) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วินิจฉัยให้คดีของนายสิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ นักกิจกรรม นักเขียน และกวีเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

เวลา 10.00 น. ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน ที่วินิจฉัยว่า คดีของนายสิรภพอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาคดีของศาลทหาร เนื่องจากคณะกรรมการเห็นตามความเห็นของศาลทหารกรุงเทพว่า แม้จะมีการกระทำความผิดหลายกรรม และเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร แต่ภายหลังจากมีประกาศแล้ว ข้อความที่เป็นความผิดยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ จึงถือเป็นความผิดที่ต่อเนื่องและเกี่ยวโยงกัน

คดีนี้ สิรภพถูกกล่าวหาว่ามีความผิดจากการโพสต์เนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์บน 3 เว็บไซต์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2552, 15 ธ.ค. 2556, และ 22 ม.ค. 2557 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดก่อนมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทําหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอํานาจของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 แต่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล มีความเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนมีประกาศ คสช. มาจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 57 ซึ่งประกาศ คสช. ดังกล่าวได้บังคับใช้แล้ว แต่จำเลยไม่ได้ลบข้อความที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดยังคงปรากฎในระบบคอมพิวเตอร์อยู่ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นพ้องกับความเห็นของศาลอาญาว่า คดีนี้ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อข้อมูลถูก “นำเข้า” สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถือว่าการกระทำความผิดได้สำเร็จแล้ว แม้ข้อความจะยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด คดีดังกล่าวจึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่เขตอำนาจศาลทหาร ประเด็นโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจึงถือเป็นที่สุด ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดสืบพยานปากแรก คือ พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา วันที่ 11 พ.ค. 2559

นอกจากนี้ นับแต่ คสช. ออกประกาศที่มีผลให้พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารคดีของสิรภพถือเป็นคดีแรกที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยในกรณีที่ศาลยุติธรรมและศาลทหารมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี  ซึ่งปัจจุบันยังมีคดีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 116 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ และอีกหลายคดีซึ่งกำลังดำเนินการโต้แย้งอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ สิรภพ หรือรุ่งศิลา ถูกจับกุมขณะพยายามขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2557 หลังจากปรากฏชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของ คสช. แล้วเขาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น