สรุปคำพิพากษาศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งไล่ออก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

11 เม.ย. 2559 ศาลปกครองนัดฟังคำพิพากษาคดีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ไล่ออกจากราชการ ที่อธิการบดี มธ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนัดฟังคำพิพากษาครั้งนี้เลื่อนมาจากวันที่ 8 มี.ค. 2559

ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการโดย ก.พ.อ. เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สมศักดิ์มีพฤติการณ์ที่จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ หรือละทิ้งหน้าที่ราชการเกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร จึงไม่ถือว่าสมศักดิ์ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และข้อ 55 (6) ของข้อบังคับ มธ. ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.อ. ที่ พิจารณาโดยอาศัยข้อเท็จจริงและกฎหมายเดียวกันจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาบรรยายโดยสรุปไว้ว่า เบื้องต้นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลผู้ฟ้องคดี อยู่ระหว่างปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการโดยทำวิจัยเป็นเวลา1ปี ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2557- 31 ก.ค. 2558 ซึ่งเป็นการลาในลักษณะที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ไปปฏิบัติงานนนอก มธ. ตามระเบียบทบวงมหาวิทยาลัย

ทว่า การอนุมัติการลาโดยอธิการบดีเป็นไปอย่างล่าช้า และมีความไม่แน่นอน อาจกระทบต่อกระบวนการทำวิจัยและความสมบูรณ์ของงานวิจัย รวมถึงไม่อาจเลื่อนหรือขยายเวลาการทำวิจัยได้ เพราะจะกระทบต่อการเรียนการสอนของคณะ ดังนั้น โดยเงื่อนไขกฎหมายและลักษณะปฏิบัติโดยทั่วไป อาจารย์ผู้ขอทำวิจัยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะแล้วอาจจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่วิจัยได้ เมื่อวันเริ่มต้นการวิจัยมาถึง

somsak-timeline.jpg

ลำดับเหตุการณ์ก่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ

นอกจากนี้ กรณีที่ภาควิชาประวัติศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์มีหนังสือลงวันที่ 18 ธ.ค. 2557 และ 26ธ.ค. 2557 แจ้งให้สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการและมอบหมายภาระงานสอน ตามระเบียบทบวงมหาวิทยาลัย ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ ได้แก่ ผู้ที่อนุมัติให้ไปปฏิบัติงาน คือ อธิการบดี มธ. แต่คณะศิลปศาสตร์ไม่ได้อ้างถึงคำสั่งของอธิการบดี มธ. ในกรณีที่แจ้งให้สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ

ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งไม่อนุมัติคำขอไปปฏิบัติงานของสมศักดิ์  ซึ่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเพิ่งมีคำสั่งยกเลิกในวันที่ 28 ม.ค. 2558 หลังจากคณะศิลปศาสตร์มีหนังสือแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการ 1 เดือน

ภายหลังทราบเรื่องที่ทางคณะแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการ สมศักดิ์ได้ยื่นหนังสือของลาออกจากราชการโดยขอให้มีผลตั้งแต่ 30ธ.ค.2557 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิการบดี มธ. เห็นชอบตามหัวหน้างานวินัยและสอบสวนที่เห็นว่า วันที่สมศักดิ์ยื่นหนังสือลาออก คือวันที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ผู้บังคับบัญชาของสมศักดิ์ได้รับหนังสือขอลาออก ตรงกับวันที่ 6 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน และไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิการบดี มธ. หรือไม่ได้ระบุวันลาออก จึงถือว่าวันที่ 6 ก.พ. 2558 เป็นวันขอลาออก

จากนั้น อธิการบดี มธ. มีความเห็นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 เห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว พร้อมกับออกคำสั่งลงโทษไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ

ศาลปกครองเห็นว่า ช่วงเวลาที่ทีหนังสือเรียกกลับมาปฏิบัติราชการจนถึงวันที่มีคำสั่งยกเลิกการขออนุมติลาของสมศักดิ์นั้น เป็นช่วงที่ยังไม่แน่ชัดว่าเรื่องขอลาไปปฏิบัติงานและขอลาออกจะได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือไม่ ดังนั้น การที่สมศักดิ์ไม่ได้กลับมาปฏิบัติราชการตามหนังสือแจ้งของคณะศิลปศาสตร์เป็นพฤติการณ์ที่มีเหตุผลตามสมควร

ในประเด็นการพิจารณาความผิดวินัยของข้าราชการที่มีพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามระเบียบของทางราชการ ศาลปกครองเห็นว่า ในกรณีนี้ สมศักดิ์จะต้องได้ทราบข้อเท็จจริงว่าคำขอไปปฏิบัติงานของตนได้ถูกยกเลิกแล้วและต้องกลับไปปฏิบัติราชการตามเดิม ซึ่งตามสำนวนการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการแจ้งคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาให้สมศักดิ์ทราบหรือไม่ ปรากฏแต่เพียงว่า สมศักดิ์ได้ทราบคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติราชการในวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เท่านั้น กรณีนี้จึงยังไม่ถือว่าสมศักดิ์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อเป็นเวลา 15 วันโดยไม่มีเหตุผลสมควร

นอกจากนี้ ข้ออ้างว่า สมศักดิ์มีพฤติการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึงเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ ที่ทาง มธ. ได้จ่ายให้แก้สมศักดิ์ ในระหว่างเวลาตามคำสั่งไล่ออกจากราชการ ศาลเห็นว่าเป็นเงินเดือนและสวัสดิการที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมศักดิ์พึงได้รับจากการทำงาน

หากอธิการบดี มธ. และ ก.พ.อ. เห็นว่าการที่สมศักดิ์ไม่มาทำงานทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินก็สามารถเรียกเก็บพร้อมดอกเบี้ยได้ตามกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียงเป็นพิเศษจากกรณีนี้ จึงไม่สามารถรับฟังได้ว่าพฤติกรรมของสมศักดิ์ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง

ศาลปกครองยังได้พิจารณาในประเด็นที่สมศักดิ์อ้างว่าถูกคุกคาม โดยมีชาย 2 คนบุกยิงที่บ้านเมื่อ 12 ก.พ. 2557 และถูกคุกคามจาก คสช. ด้วยการแจ้งความดำเนินคดีและเรียกไปรายงานตัวจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศว่า กรณีแรกการคุกคามดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์จะมีหนังสือเรียกให้กลับมาปฏิบัติราชการเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นที่บ้าน และไม่ปรากฏว่าเป็นการคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีการคุกคามจาก คสช. เป็นเรื่องที่สมศักดิ์ต้องต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการแจ้งคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ให้สมศักดิ์ได้รับทราบแล้ว สมศักดิ์จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ไม่รู้ถึงหน้าที่ที่จะต้องกลับมาปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัย หากอธิการบดี มธ. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 เห็นว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการสอบสวนและการลงโทษในคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่อธิการบดีจะพิจารณาดำเนินการตามกฎระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คำสั่งไล่สมศักดิ์ออกจากราชการเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้เพิกถอนคำสั่ง โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีมีเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตและเสรีภาพ จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ  เมื่อมีคำสั่งเรียกกลับมาสอน ผู้ฟ้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการทันที ไม่ได้ยื่นล่วงหน้าตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการลาออกจากตําแหน่งบริหาร แต่ถือได้ว่ามีเหตุผลจำเป็นพิเศษแล้ว นอกจากนี้ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ยังได้อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในต่างประเทศ ในความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่าในทางปฏิบัติผู้ฟ้องคดีได้ลงไปเพิ่มพูนความรู้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจงใจละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

เรื่องที่เกี่ยว้อง

ใส่ความเห็น