‘จันทจิรา เอี่ยมมยุรา’ เข้าให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

15 ม.ค. 59 เวลา 14.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ร่วมกันแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแถลงยืนยันถึงเสรีภาพทางวิชาการ (ดูสรุปคำให้การ) อีกทั้งยังขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี

ในวันนี้ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา หนึ่งในรายชื่อพยานที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน จึงได้เดินทางเข้าให้การต่อ พ.ต.อ.ประยูร กาศทิพย์ พนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก พร้อมกับทีมทนายความ โดยได้จัดทำคำให้การมายื่นเป็นเอกสาร

IMG_7343

ในคำให้การของจันทจิรา ได้กล่าวถึงหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ว่าถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบัน โดยหลักการดังกล่าวมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยได้ให้การรับรองเป็นภาคีในพันธกรณีด้วย

คำให้การระบุว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะปกครองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเต็มรูปแบบ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องผูกพันและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามผูกพันตนไว้แล้ว

คำให้การอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มี.ค.55 ที่ได้พิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง พร้อมกับยืนยันว่าแม้รัฐธรรมนูญและ ICCPR จะมีบทอนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การจำกัดเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่

1) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะกระทําได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น และต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภา สำหรับคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 นี้ไม่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภา จึงขาดความชอบธรรมทางการเมือง

2) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทำภายใต้วัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศให้อำนาจเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในรัฐธรรมนูญและ ICCPR ข้อ 19 (3) พบว่าได้กําหนดวัตถุประสงค์ในการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้โดยใช้ถ้อยคําที่มีความหมายกว้างเพียงพอครอบคลุมความจำเป็นของรัฐแล้ว ได้แก่ เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พระราชบัญญัติที่มีบทจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะต้องระบุวัตถุประสงค์ข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้ออย่างชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

3) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทําเท่าที่จําเป็น ตามหลักความได้สัดส่วน (proportional principles) ซึ่งคําว่า “จําเป็น” นั้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางเงื่อนไขการพิจารณาเป็น 2 ประการ คือ (ก) การจํากัดเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องกระทำเป็นเรื่องเร่งด่วน (Pressing) หรือไม่ หรือเป็นความจําเป็นอย่างแท้จริง (Substantial Need) หรือไม่ และ (ข) มาตรการที่กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น จําเป็นจะต้องมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่มุ่งคุ้มครอง ซึ่งในกรณีนี้รัฐจําเป็นที่จะต้องวางมาตรการข้อจํากัดนั้นอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้มาตรการนั้นๆ ลุกล้ำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควร ในแง่นี้ การกำหนดลักษณะการกระทำผิดที่กว้างเกินไปและเป็นการทั่วไปเกินไป ถือว่าขัดต่อหลักความจำเป็น

คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรคแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของบุคคล แต่การกำหนดฐานความผิดมีลักษณะทั้งกว้างเกินไป กล่าวคือคำว่าการ “ชุมนุมทางการเมือง” ไม่มีความหมายที่แน่นอนชัดเจนเพียงพอ ที่จะทำให้บุคคลสามารถเข้าใจและกำหนดพฤติกรรมของตนเองได้ว่าการชุมนุมอย่างไรเป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิดและจะได้รับโทษ และทั้งยังมีลักษณะเป็นการทั่วไปเกินไป เพราะเหตุว่าเพียงการชุมนุมกัน ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก็เป็นความผิดตามคำสั่งฉบับนี้ทันที ซึ่งข้อเท็จจริงทุกวันมีผู้คนชุมนุมกัน ทั้งในที่ส่วนบุคคล (private place) และที่สาธารณะ (public place) เกินกว่า 5 คนเสมอๆ 

จึงเห็นว่ามาตรการที่ข้อ 12 กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้น ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศมุ่งคุ้มครอง ซึ่งจะเห็นความบกพร่องนี้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์และมาตรการใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ฯลฯ”

เห็นได้ว่ามาตรา 215 มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ใช้ถ้อยคำชัดเจนในระดับที่บุคคลธรรมดาสามารถเข้าใจได้ และข้อสำคัญการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้นมีความเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะที่มุ่งคุ้มครอง อันได้แก่ ความมั่นคงแห่งรัฐความสงบเรียบร้อย และสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุคคลที่สาม จึงมีความเห็นว่าบทบัญญัติข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในคำให้การพยาน ยังได้ระบุถึงเจตนารมณ์ของพรบ.การชุมนุมสาธารณะ ว่ามีสาระสำคัญในการกําหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยพรบ.ฉบับนี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นในสถานที่ของเอกชน เช่น โรงแรม ห้องประชุมเอกชน ทั้งมิได้จัดให้มีการถ่ายทอดเสียงของผู้ชุมนุมออกสู่ภายนอกอาคาร จึงไม่เข้านิยามความหมายของ “ที่สาธารณะ” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฯ ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขใน พ.ร.บ. และตราบใดที่การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ผู้ชุมนุมย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศเสมอ

ในท้ายคำให้การ ได้ชี้แจงถึงบทบาทของนักวิชาการ ว่ามีภาระหน้าที่ในการตอบปัญหาให้แก่สังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ทำหน้าที่คล้ายดังถังแห่งปัญญา (think tank) ชี้นำสังคม โดยภารกิจเช่นนี้นักวิชาการจึงเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากบุคคลทั่วไปคือ เสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) โดยใน ICCPR ได้วางหลักการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ห้ามมิให้รัฐตรากฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว นักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพราะเหตุที่แสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา แม้ประเทศจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษหรือกฎอัยการศึกก็ตาม

ใส่ความเห็น