เปิดคำให้การ ‘ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น’ พยานคดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

15 มี.ค.59 ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ทนายความได้เข้ายื่นคำให้การของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม แต่เนื่องจากพยานอีกหนึ่งคน คือไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ยังไม่สามารถเดินทางมาให้การในช่วงเดือนนี้ด้วยตนเองได้ และพนักงานสอบสวนต้องเร่งสรุปสำนวน พยานจึงได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ผู้ต้องหาทั้งสองรับรองเอกสาร เพื่อยื่นต่อพนักงานสอบสวนแทน

สำหรับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เป็นอาจารย์และนักวิจัยประจำภาควิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ไทเรลได้ทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง กฎหมาย และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมาหลายสิบปี รวมทั้งร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ที่เรียกร้องให้คสช.หยุดคุกคามกลุ่มนักวิชาการที่ร่วมกันแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารก่อนหน้านี้ด้วย

Untitled

ภาพจากเสวนา “ประวัติศาสตร์กับความยุติธรรม” โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 17 ส.ค.57

คำให้การของไทเรล ได้ระบุถึงเหตุที่ตนสนับสนุนผู้ต้องหาในคดีนี้สามประเด็นหลัก โดยสรุปได้แก่

ข้อ 1 ข้าพเจ้าเห็นว่าการกระทำการอ่านแถลงการณ์ของอาจารย์สองท่านและพวก เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ไม่ได้การละเมิดกฎหมาย แม้ข้าพเจ้าอ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังไม่เข้าใจว่าเข้าข่ายการละเมิดข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 อย่างไร

อาจารย์สองท่านและพวก ตอบคำวิจารณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ต.ค.58 โดยการเขียนและออกแถลงการณ์ที่อธิบายความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการต่อการสอนในห้องเรียน ในรั้วมหาวิทยาลัย และนอกรั้วมหาวิทยาลัยในสังคมอย่างกว้างขวาง การสร้างพื้นที่และบรรยากาศพอที่จะได้มีความคิดเห็นต่างกันหลายชนิด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยกล่าว แต่ตรงกันข้าม การมีพื้นที่แบบนี้และสอนให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและชอบธรรม และเพื่อสร้างจิตสำนึกพอที่จะให้นักศึกษาฝัน และทำงานเพื่อความรู้และปัญญาใหม่

การร่วมกันนั่งแถลงการณ์ห้าคนขึ้นไปของอาจารย์สองท่านและพวก จะตีความให้ได้เข้าข่ายความหมายของคำว่า “ชุมนุม”  “มั่วสุม” หรือ “ชุมนุมทางการเมือง”  ก็ยังไม่ตรงกับความหมายของคำดังกล่าว แต่เป็นการเรียกร้องปกป้องสถาบันการศึกษาในภาวะวิกฤต การอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับการสอน การเรียน และการพยายามผลักให้คนรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกและแรงบันดาลใจพอที่จะแสวงหาความรู้ใหม่เพื่อทำให้สังคมรุ่มรวยปัญญา และเต็มไปด้วยความสามารถในการเข้าใจและแก้ปัญหาหลายชนิด

ข้อ 2 ไม่ใช่เพียงแต่การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การละเมิดกฎหมาย แต่ยิ่งกว่านั้นข้าพเจ้ามองว่าเป็นการกระทำเพื่อปกป้องและส่งเสริมการศึกษาของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นครูและอาจารย์ ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเขียนไว้ว่า “การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง” และ “คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้มีผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง”

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง การมีทัศนะวิพากษ์แตกต่างและการมีความเคารพต่อทัศนะวิพากษ์นี้เป็นเสาหลักสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ และข้าพเจ้าคิดว่าการพยายามส่งเสริมและปกป้องระบบการศึกษาและสังคมด้านนี้เป็นบทบาทสำคัญอันหนึ่งของครูและอาจารย์ ยิ่งกว่านั้นเป็นการกระทำที่ควรถูกยกย่อง ไม่ใช่ถูกทำให้เป็นอาชญากรรม

ข้อ 3 ข้าพเจ้าสนับสนุนอาจารย์ทั้งสองท่านและพวก เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่จะสนับสนุนเพื่อนร่วมงานวิชาการที่ต้องประสบกับการคุกคามและถูกดำเนินคดีเนื่องจากงานปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ข้าพเจ้าไม่ใช่พลเมืองไทยและไม่ได้ทำงานในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  แต่ตลอดสิบหกปีที่ผ่านมาที่ข้าพเจ้ามาศึกษาและทำวิจัยประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่มีโอกาสมีส่วนร่วมในชุมชนนักวิชาการที่ประเทศไทย ส่งเสริมให้ข้าพเจ้ามีความคิดที่ลึกซึ้งกว่าเดิมและได้ตั้งคำถามใหม่ๆ เพราะฉะนั้นทั้งในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้ที่ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้ และในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ก็เหมาะที่ข้าพเจ้าจะยืนอยู่ข้างเดียวกับอาจารย์ทั้งสองท่านและพวก

 

ในส่วนต่อมาของคำให้การ ไทเรลยังเน้นย้ำว่าการแสดงออกของผู้ต้องหาทั้งสองท่านและพวกเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของการใช้เสรีภาพตามปกติและเป็นเสรีภาพทางวิชาการ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์สองท่านและพวก สะท้อนถึงวิกฤตเชิงเสรีภาพอย่างกว้างขวางในประเทศไทยที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57

วิกฤตในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์จำกัดเสรีภาพทางวิชาการทั่วโลกที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก แต่ไม่ใช่แค่วิกฤตที่เป็นปรากฏการณ์สากล การกระทำเพื่อปกป้องเสรีภาพโดยอาจารย์สองท่านและพวก เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอันยาวนานและเป็นหลักสากลที่สำคัญด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าขออธิบายรายละเอียดและความหมายเป็นสามประเด็นหลักดังนี้

ข้อ 1 ปัจจัยหลักอันหนึ่งของการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค.57 คือการพยายามปิดปากประชาชนผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกันและทำให้ความคิดเห็นต่างกันนี้กลายเป็นอาชญากรรม คสช.ใช้วิถีทางกฎหมายและวิถีคุกคามนอกกฎหมายในกระบวนการนี้ โดยรวมการกระทำทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศความกลัวที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยตรง การที่อาจารย์สองท่านและพวกถูกดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกทางความคิดเห็น เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการก็ตรงกับกระบวนการนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อันตรายและคงส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาและสังคมไทยในระยะยาว  

ข้อ 2 การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและจำกัดเสรีภาพทางวิชาการกลายเป็นวิกฤตในหลายๆ ประเทศในยุคนี้ องค์การนักวิชาการที่เสี่ยง (Scholars at Risk) ซึ่งเป็นองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา รวบรวมสถิติของการกระทำของรัฐต่างๆ ทั่วโลกที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการระหว่างเดือนมกราคม 2554 ถึง พฤษภาคม 2558 พบว่าในช่วงระหว่างนั้นมีนักวิชาการอย่างน้อย 111 คนที่ถูกสังหาร บังคับอุ้มหาย หรือถูกทำร้ายร่างกาย  67 คนที่ถูกจองจำคุก  47 คนที่ถูกดำเนินคดี  37 คนที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งวิชาการ  12 คนที่ถูกไม่ให้เดินทาง และอีก 59 คนที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในรูปแบบอื่น รวมแล้ว 333 คน ทั้งหมดนี้ถูกใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิเสรีภาพเนื่องจากการใช้เสรีภาพทางวิชาการ

การตั้งข้อหาและดำเนินคดีต่ออาจารย์สองท่านและพวก เข้าข่ายประเภทของการดำเนินคดีหรือสั่งจำคุกนักวิชาการเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและทางวิชาการนี้ องค์การนักวิชาการที่เสี่ยงวิเคราะห์ว่าเป็นการกระทำที่อยุติธรรมและมีผลอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง การใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการแสดงออก เนื้อหา และการกระทำทางวิชาการเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือบีบบังคับและเป็นภัยต่ออุดมศึกษาโดยตรง

ข้อ 3 เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคนมีความสำคัญและเป็นที่น่าปกป้องเท่ากัน เสรีภาพในการแสดงออกของนักวิชาการไม่ใช่สำคัญกว่าเสรีภาพของคนกลุ่มอื่น แต่ได้ถูกเน้นเป็นพิเศษเพราะมีจำนวนไม่น้อยในรัฐทหารหรือเผด็จการรูปแบบอื่นๆ ที่นักวิชาการมักเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวกันตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของการปกครองแบบนี้ การที่นักวิชาการมักตั้งคำถามกับการใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจก็สอดคล้องกับการประกอบอาชีพการแสวงหา จัดการ และแพร่ความรู้บนพื้นฐานที่มีเหตุมีผลของพวกเขานั่นเอง

ตัวอย่างเช่นคือ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อสิทธิมนุษยชน (University Teachers for Human Rights, UTHR) ที่ประเทศศรีลังกาในช่วงสงครามกลางเมือง UTHR เป็นกลุ่มนักวิชาการก่อตั้งที่มหาวิทยาลัยจาฟนาในปี 2531 เพื่อบันทึก วิเคราะห์วิจารณ์ และเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั้งโดยกองทัพศรีลังกา กองทัพอินเดีย และกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม แต่กลุ่มที่มีอำนาจในขณะนั้นกลับตอบโต้ด้วยปฏิกิริยาอย่างโหดร้าย Dr. Rajani Thiranagama ที่เป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจาฟนาและผู้นำของ UTHR ถูกยิงสังหารในปี 2532 สมาชิกกลุ่มอีกหลายๆ ท่านต้องหนีออกจากพื้นที่ เพื่อให้รอดชีวิตจากภัยที่มาจากทั้งสามกองทัพ

อีกตัวอย่างคือ กลุ่มแม่เทียนอันเหมิน ไม่นานหลังจากการสังหารหมู่ ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 4 มิ.ย.2532  มีแม่ของผู้ที่เสียชีวิตตั้งกลุ่มเพื่อค้นหาความจริง และเรียกร้องความยุติธรรม ในสามสิบกว่าปีตั้งแต่นั้น กลุ่มแม่เทียนอันเหมินกลายเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์สิทธิของนักโทษการเมือง ผู้นำของกลุ่มคือ อ.Ding Zilin ที่ขณะเกิดเหตุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Renmin ลูกชายของเขาเป็นนักเรียนอายุ 17 ปี และเป็นหนึ่งในคนที่ถูกสังหาร  ตลอดสามสิบกว่าปีที่ทำงานมา อ.Ding Zilin และสมาชิกผู้อื่นในกลุ่มถูกคุกคาม สอบสวน และจำกัดสิทธิเสรีภาพในรูปแบบอื่นโดยรัฐจีน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กลุ่มนักวิชาการตุรกีที่เพิ่งโดนคุกคามตอนเดือนมกราคม 2559 นักวิชาการตุรกี 1,128 คน ถูกคุกคามและสอบสวนหลังจากลงชื่อในจดหมายถึงรัฐตุรกี เรียกร้องให้หยุดการสังหารและกระบวนการไล่ออกจากประเทศต่อชาวเคิร์ดคนกลุ่มน้อยที่ รัฐบาลตุรกีไม่พอใจกับจดหมายและบอกว่าการลงชื่อผิดกฎหมายเพราะเป็นการเผยแพร่ “การโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย” มีโทษจำคุกระหว่างหนึ่งถึงห้าปี แม้ว่ามีการเรียกร้องโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการทั้งในประเทศตุรกีและต่างประเทศให้รัฐตุรกีหยุดการสอบสวนและคุกคามนักวิชาการ ก็ยังไม่มีผล

“การแสวงหาความจริงและการตั้งคำถามเป็นกิจกรรมประจำวันของนักวิชาการ ถ้าหากผู้มีอำนาจใช้อำนาจปกครองด้วยความเป็นธรรม คงไม่ต้องกลัวความจริงและคำถามจากนักวิชาการผู้ที่สอนหนังสือ” คำให้การของไทเรลสรุป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำให้การ “อรรถจักร์-สมชาย” ความชอบธรรม 5 ประการของการแถลง “มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

‘จันทจิรา เอี่ยมมยุรา’ เข้าให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

เปิดคำให้การ ‘สุริชัย หวันแก้ว’ พยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

‘ไชยันต์ ไชยพร’ เข้าให้การเป็นพยานคดีแถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’

‘ไชยันต์ ไชยพร’ เข้าให้การเป็นพยานคดีแถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’

วานนี้ (13 ก.พ.59) ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี 

ไชยันต์ ไชยพร ได้นัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวานนี้ และได้นำข้อเขียนเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ที่เคยเขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ มายื่นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกอบสำนวนคดีนี้ ส่วนคำให้การเกี่ยวกับคดีพร้อมจะให้การเป็นพยานในชั้นศาลต่อไป ถ้าหากมีการส่งฟ้องคดี

ในบทความดังกล่าว ไชยันต์อภิปรายถึงหลักเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเห็นว่าเสรีภาพในการพูดและแสดงออกมีนัยที่กว้างกว่าเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวคือ เสรีภาพทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูด-คิดหรือแสดงออก ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเท่านั้นที่มีเสรีภาพนี้ เพราะคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการก็มีเสรีภาพทางวิชาการได้  สิ่งที่นักวิชาการแสดงออกก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวิชาการเสมอไปด้วย บางครั้ง การที่นักวิชาการใช้เสรีภาพ อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยเนื้อหาที่แสดงออกมานั้นไม่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาและวิธีการที่เป็น“วิชาการ” และบางครั้ง การที่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการใช้เสรีภาพ ก็อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ    

ไชยันต์ระบุในบทความว่าในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ในโลกสื่อสมัยใหม่แล้ว ยิ่งยากจะหาบรรทัดฐานต่อขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออก โดยในพื้นที่ที่จำกัดและคนจำกัด คนในพื้นที่นั้นก็สามารถบอกหรือสร้างหรือกำหนดขอบเขตของเสรีภาพขึ้นมาได้  แต่สิ่งที่พวกเขา (จำนวนหนึ่ง) กำหนดภายใต้พื้นที่ (ขนาดหนึ่ง) ณ เวลานั้นๆ ย่อมไม่สามารถจะขยายไปครอบคลุมคนอื่นๆ ในพื้นที่อื่นและเวลาอื่นได้  ต่อให้ใช้อำนาจรัฐ อาจจะสามารถควบคุมสังคมที่เจอตัวกันได้  แต่สังคมเจอตัวก็มี “จำนวนคนหนึ่งๆ” “พื้นที่หนึ่งๆ” และ “เวลาหนึ่งๆ” จำกัดอยู่เสมอ แต่สำหรับโลกหรือพื้นที่ในสื่อสมัยใหม่ เป็นการยากที่จะควบคุม                            

ไชยันต์ระบุด้วยว่าในประเด็นปัญหาหนึ่งๆ หากมีผู้คนนำไปถกเถียงกัน โดยพยายามใช้เหตุผลหรือชุดความคิด ชุดจริยธรรม ศีลธรรม จารีต ฯลฯ และพยายามตัดสินว่า ขอบเขตควรอยู่แค่ไหนและอย่างไร ในลักษณะของข้อเสนอเพื่อการหารือถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่พอเป็นไปได้ หรือถ้าหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เสวนากันต่อไป อย่างนี้ เรียกได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักวิชาการก็สามารถแสดงออกทางความคิดผ่านการพูดหรือเขียนในลักษณะนี้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ต้องหายังเหลือพยานบุคคลที่ต้องการจะนำเข้าให้การเพิ่มเติมอีกหนึ่งคน ได้แก่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แต่เนื่องจากพยานยังไม่สะดวกเดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้ และพนักงานสอบสวนระบุว่าต้องเร่งจัดทำสำนวนส่งต่ออัยการทหาร ทำให้ทางฝ่ายผู้ต้องหาจะประสานพยานเพื่อจัดส่งคำให้การเป็นหนังสือมายื่นต่อพนักงานสอบสวนต่อไป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำให้การ “อรรถจักร์-สมชาย” ความชอบธรรม 5 ประการของการแถลง “มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

‘จันทจิรา เอี่ยมมยุรา’ เข้าให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

เปิดคำให้การ ‘สุริชัย หวันแก้ว’ พยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

เปิดคำให้การ ‘สุริชัย หวันแก้ว’ พยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

26 ม.ค.59 เวลา 13.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี

ในวันนี้ สุริชัย หวันแก้ว หนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อพนักงานสอบสวน ให้การสนับสนุนผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยยืนยันว่าการดำเนินคดีกับนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการไม่ใช่หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งยืนยันบทบาทของนักวิชาการที่มีต่อความขัดแย้งในสังคม ใจความสำคัญของคำให้การมีดังต่อไปนี้

00000

ท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมไทยอย่างน้อย 10 ปี ที่ผ่านมา เราติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้ง เมื่อมีใครก็ตามเสนอแนวคิด หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเรา เราก็จะพยายามผลักให้คนเหล่านั้นออกไปเป็นคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นกับดักที่ทำให้สังคมไทยจมปลักอยู่กับเรื่องเดิมๆ จนไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้

อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ หรือขาดความพยายามทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งให้มากพอ เราจึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการบังคับให้เงียบหรือใช้กฎหมายมาปิดปาก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงรูปแบบเท่านั้น แต่ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลในเชิงเนื้อหา เพราะเราแก้ไขปัญหาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่ปรากฏให้เห็นเพียงน้อยนิดเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และเรามักจะมองข้าม ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำความเข้าใจคนที่คิดเห็นแตกต่างหรือมีประสบการณ์แตกต่างกัน เท่าที่ผ่านมาสังคมไทยจึงมักแก้ปัญหาแบบ “ขอไปที” มองข้ามความสำคัญของการเข้าใจต่อกัน และร่วมทุกข์วิเคราะห์ลงไปในฐานของภูเขาน้ำแข็ง ให้เห็นถึงรากเหง้าที่แท้จริงอันมีความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งในสังคมไทย

สังคมไทยจึงติดอยู่ในกับดักความขัดแย้งที่แฝงด้วยความเสี่ยงต่อความรุนแรง มองไม่เห็นรากเหง้าที่แท้จริงของความขัดแย้ง และด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งทางวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนให้สังคมมีความเจริญงอกงามทางปัญญา จึงต้องทำหน้าที่ของตน อาจารย์และนักวิจัยมีภารกิจและบทบาทอันสำคัญที่จะต้องนำเสนอแนวคิดหรือแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นจากกับดักความขัดแย้งนี้ไปได้

การดำเนินคดีกับนักวิชาการ ที่ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นความขัดแย้งแบบเดิมๆ จึงเป็นการทำลายบรรยากาศเชิงบวกของสังคม และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่สังเกตมานักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่ต้องการจะแยกขั้วขัดแย้งทางการเมือง ในทางตรงกันข้ามนักวิชาการกลุ่มนี้แสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้วยสำนึกในหน้าที่ในขอบเขตของนักวิชาการ ให้คนในสังคมได้ใช้ความระแวดระวังมากขึ้น เพื่อจะลดความขัดแย้งและมิต้องจมดิ่งลึกลงไปในปัญหานี้

การกระทำของบุคคลทั้งสองในคดีนี้จึงไม่ใช่การกระทำมุ่งให้มีการเผชิญหน้าหรือยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่เป็นการเตือนสติคนในสังคม เพราะในสังคมใดหากไม่มีการเตือนสติกันแล้ว สังคมนั้นๆ กลับจะเสี่ยงอันตราย เนื่องจากมีโอกาสจะมองข้ามปัญหาและประมาทต่อสถานการณ์ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือความเสียหายด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ตามมาได้ง่าย

การที่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับนักวิชาการในฐานะเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหา ไม่ต้องเข้าสู่กับดักของความรุนแรงทางการเมือง และการแถลงข่าวก็ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่การปลุกระดมทางการเมืองแต่อย่างใด

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำให้การ “อรรถจักร์-สมชาย” ความชอบธรรม 5 ประการของการแถลง “มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

‘จันทจิรา เอี่ยมมยุรา’ เข้าให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

‘จันทจิรา เอี่ยมมยุรา’ เข้าให้การเป็นพยานคดีนักวิชาการแถลงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

15 ม.ค. 59 เวลา 14.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ร่วมกันแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแถลงยืนยันถึงเสรีภาพทางวิชาการ (ดูสรุปคำให้การ) อีกทั้งยังขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี

ในวันนี้ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา หนึ่งในรายชื่อพยานที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน จึงได้เดินทางเข้าให้การต่อ พ.ต.อ.ประยูร กาศทิพย์ พนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก พร้อมกับทีมทนายความ โดยได้จัดทำคำให้การมายื่นเป็นเอกสาร

IMG_7343

ในคำให้การของจันทจิรา ได้กล่าวถึงหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ว่าถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบัน โดยหลักการดังกล่าวมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยได้ให้การรับรองเป็นภาคีในพันธกรณีด้วย

คำให้การระบุว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะปกครองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเต็มรูปแบบ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องผูกพันและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามผูกพันตนไว้แล้ว

คำให้การอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มี.ค.55 ที่ได้พิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง พร้อมกับยืนยันว่าแม้รัฐธรรมนูญและ ICCPR จะมีบทอนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การจำกัดเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่

1) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะกระทําได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น และต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภา สำหรับคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 นี้ไม่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภา จึงขาดความชอบธรรมทางการเมือง

2) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทำภายใต้วัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศให้อำนาจเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในรัฐธรรมนูญและ ICCPR ข้อ 19 (3) พบว่าได้กําหนดวัตถุประสงค์ในการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้โดยใช้ถ้อยคําที่มีความหมายกว้างเพียงพอครอบคลุมความจำเป็นของรัฐแล้ว ได้แก่ เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พระราชบัญญัติที่มีบทจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะต้องระบุวัตถุประสงค์ข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้ออย่างชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

3) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทําเท่าที่จําเป็น ตามหลักความได้สัดส่วน (proportional principles) ซึ่งคําว่า “จําเป็น” นั้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางเงื่อนไขการพิจารณาเป็น 2 ประการ คือ (ก) การจํากัดเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องกระทำเป็นเรื่องเร่งด่วน (Pressing) หรือไม่ หรือเป็นความจําเป็นอย่างแท้จริง (Substantial Need) หรือไม่ และ (ข) มาตรการที่กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น จําเป็นจะต้องมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่มุ่งคุ้มครอง ซึ่งในกรณีนี้รัฐจําเป็นที่จะต้องวางมาตรการข้อจํากัดนั้นอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้มาตรการนั้นๆ ลุกล้ำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควร ในแง่นี้ การกำหนดลักษณะการกระทำผิดที่กว้างเกินไปและเป็นการทั่วไปเกินไป ถือว่าขัดต่อหลักความจำเป็น

คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรคแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของบุคคล แต่การกำหนดฐานความผิดมีลักษณะทั้งกว้างเกินไป กล่าวคือคำว่าการ “ชุมนุมทางการเมือง” ไม่มีความหมายที่แน่นอนชัดเจนเพียงพอ ที่จะทำให้บุคคลสามารถเข้าใจและกำหนดพฤติกรรมของตนเองได้ว่าการชุมนุมอย่างไรเป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิดและจะได้รับโทษ และทั้งยังมีลักษณะเป็นการทั่วไปเกินไป เพราะเหตุว่าเพียงการชุมนุมกัน ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก็เป็นความผิดตามคำสั่งฉบับนี้ทันที ซึ่งข้อเท็จจริงทุกวันมีผู้คนชุมนุมกัน ทั้งในที่ส่วนบุคคล (private place) และที่สาธารณะ (public place) เกินกว่า 5 คนเสมอๆ 

จึงเห็นว่ามาตรการที่ข้อ 12 กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้น ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับประโยชน์สาธารณะที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศมุ่งคุ้มครอง ซึ่งจะเห็นความบกพร่องนี้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์และมาตรการใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ฯลฯ”

เห็นได้ว่ามาตรา 215 มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ใช้ถ้อยคำชัดเจนในระดับที่บุคคลธรรมดาสามารถเข้าใจได้ และข้อสำคัญการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้นมีความเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะที่มุ่งคุ้มครอง อันได้แก่ ความมั่นคงแห่งรัฐความสงบเรียบร้อย และสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุคคลที่สาม จึงมีความเห็นว่าบทบัญญัติข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในคำให้การพยาน ยังได้ระบุถึงเจตนารมณ์ของพรบ.การชุมนุมสาธารณะ ว่ามีสาระสำคัญในการกําหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยพรบ.ฉบับนี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นในสถานที่ของเอกชน เช่น โรงแรม ห้องประชุมเอกชน ทั้งมิได้จัดให้มีการถ่ายทอดเสียงของผู้ชุมนุมออกสู่ภายนอกอาคาร จึงไม่เข้านิยามความหมายของ “ที่สาธารณะ” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฯ ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขใน พ.ร.บ. และตราบใดที่การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ผู้ชุมนุมย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศเสมอ

ในท้ายคำให้การ ได้ชี้แจงถึงบทบาทของนักวิชาการ ว่ามีภาระหน้าที่ในการตอบปัญหาให้แก่สังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ทำหน้าที่คล้ายดังถังแห่งปัญญา (think tank) ชี้นำสังคม โดยภารกิจเช่นนี้นักวิชาการจึงเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากบุคคลทั่วไปคือ เสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) โดยใน ICCPR ได้วางหลักการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ห้ามมิให้รัฐตรากฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว นักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพราะเหตุที่แสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา แม้ประเทศจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษหรือกฎอัยการศึกก็ตาม

Two Thai academics accused of defying junta’s ban of political gathering submitted statement to police

On 24 December 2015 at 14:00, two academics from Chiang Mai University, Prof. Dr. Attachak Sattayanurak and Assoc. Prof. Somchai Preechasilpakul, appeared at the Changpuak police station in Chaing Mai to submit their written statement of no-guilty plea in defense of charges filed against them for allegedly violating the Head of National Council for Peace and Order’s (NCPO) Order No.3/2015 prohibiting any political gathering of five or more persons.

In October 2015, a military officer filed charges against them for allegedly violating the NCPO ban of political gathering due to a press conference on ‘The University is Not Military Camp’ organised by a group of academics called ‘The Network of University’s Academics’ at a hotel in Chiang Mai.

According to the submitted statement, the two academics denied all charges and firmly insisted that the academic press conference was an exercise of the right to freedom of expression and was, in fact, the innovative exercise of academic freedom. Their action was in accordance with the spirit of laws and constitution, and was an expression of opinions in good faith to promote a democratic regime. Thus, the accused appealed to the police to make a non-prosecution opinion to drop the case.

Further, the accused academics requested police to investigate more witnesses to support their defence which include Prof. Dr. Chaiyan Chaiyaporn, Prof. Surichai Wankaew, Assistant. Prof. Dr. Jantajira Iummayura, and Dr. Tyrell Haberkorn.

The two academics could face a jail-term of no more than 6 months and/or fine of 10,000 THB, if found guilty by the Chaing Mai Military Court, under the Head of the NCPO Order No. 3/2015 (12)*. อ่านเพิ่มเติม