10 คดีเด่นในศาลทหารประจำปี 2558 ตอนที่ 2

ปี 2558 นับเป็นขวบปีที่สองแล้วที่พลเรือนจำนวนมากยังคงถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ภายใต้ระบอบการปกครองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 116 และความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคสช. ยังคงถูกนำมาใช้กล่าวหาต่อการเคลื่อนไหว หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้กระทำการเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ก็ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารจำนวนมากเช่นกัน จากสถิติของกรมพระธรรมนูญที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลมา ระบุว่าตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 ก.ย.58 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวมแล้ว 1,629 คน¹

ในรอบปี 2558 ศูนย์ทนายฯ รับคดีเพิ่มเติมจำนวน 42 คดี รวมเป็นคดีทั้งหมดในความรับผิดชอบจำนวน 69 คดี นับแต่การรัฐประหาร ในโอกาสสิ้นปีนี้ ศูนย์ทนายฯ จึงรวบรวม 10 คดีเด่นในศาลทหาร ซึ่งพอจะเป็นตัวแทนภาพรวมของปัญหากระบวนการยุติธรรมภายใต้การปกครองของคสช. ตั้งแต่การริเริ่มคดีในการกล่าวหาบุคคลว่ากระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การใช้อำนาจในการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การเข้าร่วมสอบสวนโดยทหาร การสั่งฟ้องโดยอัยการทหาร การพิพากษาคดีโดยตุลาการศาลทหาร ไปจนถึงการคุมขังในเรือนจำภายในค่ายทหาร ทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร จนกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้มีสภาพกลายเป็น “กระบวนการยุติธรรมลายพราง” คดีเด่นๆ ในรายงานนี้จึงเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนถึงสภาพกระบวนการนี้ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปีที่ผ่านมา

6. คดีพิศวงและชวนสยอง: ความตายระหว่างควบคุมตัวภายในเรือนจำชั่วคราวฯ มทบ.11²

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 ปรากฏเหตุการณ์ที่นับได้ว่าน่าพิศวงและสร้างความสยองในรอบปีนี้ ภายหลังเกิดกระแสข่าวการควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.58 ตามมาด้วยการปฏิเสธการควบคุมตัวโดยพล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม แต่ต่อมาในวันที่ 21 ต.ค.58 นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และเลขานุการของนายสุริยัน กลับถูกนำตัวมาทำการฝากขังที่ศาลทหาร ในข้อหาตามมาตรา 112 และถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ไม่กี่วันต่อมา กลับปรากฏการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ในวันที่ 23 ต.ค.58 โดยสาเหตุถูกระบุว่าเป็นการผูกคอตนเองตาย อีกทั้งในวันที่ 7 พ.ย.58 นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ก็เสียชีวิตตามมา โดยถูกระบุสาเหตุว่ามีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ข้อมูลทั้งหมดมาจากแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเรือนจำภายในค่ายทหาร และทั้งสองกรณีไม่ปรากฏว่าญาติได้รับแจ้งให้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรพลิกศพ รวมไปจนถึงการพิธีเผาศพในทันที โดยไม่มีพิธีกรรมสวดศพตามความเชื่อในพุทธศาสนา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าปัญหาดังกล่าว เกิดจากการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 โดยไม่เปิดเผยสถานที่และไม่ให้ญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยมได้ รวมไปถึงการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้นภายในเขตมณฑลทหารบกที่11 ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยบุคคลภายนอก เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจนถึงสาเหตุในการเสียชีวิตของบุคคลทั้งสอง คดีนี้จึงนับเป็นคดีที่น่าพิศวงและชวนสยองติดอันดับคดีหนึ่ง

หมอหยอง crop

ลำดับจากขวาไปซ้าย พ.อ.พิสิษฐ์ศักดิ อิศรางกูร ณ อยุธยา, สุริยัน สุจริตพลวงษ์, พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ และพ.อ.คชาชาต บุญดี 

7. คดีที่มีการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความอย่างร้ายแรง: “คดีเตรียมป่วน Bike for Dad”²

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ขณะที่กำลังมีการเตรียมจัดงานปั่นเพื่อพ่อ (Bike for Dad)ปรากฏข่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 9 ราย ซึ่งมีพฤติการณ์ในการวางแผนสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนงานสำคัญในหลายพื้นที่ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ  ผู้ต้องหา 4 ใน 9 ราย เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งมีเบญจรัตน์ มีเทียน เป็นทนายความ โดยนายธนกฤต ทองเงิน เพิ่ม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลและคดีนี้อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำขอนแก่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้โทรศัพท์ในการร่วมกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

วันที่ 29 พ.ย.58 เบญจรัตน์ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมาย คสช. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เนื่องจากเหตุการออกหมายจับธนกฤต ทำให้หลังจากการแจ้งความดังกล่าวเบญจรัตน์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดตามนับสิบสาย

ต่อมาในวันที่ 30 พ.ย.58 ภายหลังเบญจรัตน์ มีเทียนเข้าเยี่ยมลูกความที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี กลับถูกกักตัวไม่ให้ออกจากเรือนจำจนต้องอาศัยช่วงจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากองบังคับการปราบปรามมาติดตามตัววิ่งหนีออกมา แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังติดตามเบญจรัตน์และไปนั่งเฝ้าเบญจรัตน์หน้าห้องพิจารณาคดี และขอให้เข้ามายังกองบังคับการปราบปรามเพื่อให้ถอนแจ้งความ แต่เบญจรัตน์ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าพบนายธนกฤตข่มขู่ว่าเขาแจ้งความเท็จ และให้เขาเซ็นถอนแจ้งความ โดยเสนอที่จะถอนหมายจับเขาเป็นการแลกเปลี่ยน วันที่ 8 ธ.ค.58 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ยังเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทนายความเบญจรัตน์ ในความผิดฐาน แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน และข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ทนาย

ทนายความเบญจรัตน์ มีเทียนให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังจากดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลอาญาฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท ต่อพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่ฝ่ายกฎหมาย คสช. และ พ.ต.ท.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.  ภาพโดย Banrsdr Photo

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความอย่างร้ายแรง ทั้งการคุกคามระหว่างเข้าพบลูกความและสอบข้อเท็จจริงที่เรือนจำชั่วคราวฯ การติดตามของพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการถอนแจ้งความ และการถูกแจ้งความดำเนินคดีกลับ จากการทำหน้าที่ทนายความให้นายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ทั้งหมดอาจส่งผลให้ทนายความมีความหวาดระแวงในการทำหน้าที่ต่อไป อีกทั้งหลักการที่ว่าผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจำมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นหัวใจของกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง หากผู้ต้องหาไม่อาจเข้าถึงทนายความได้

8. คดีประหลาด: กรณีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง

หนึ่งในคดีที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมและตกเป็นข่าวไปทั่วโลก คือการจับกุมนายฐนกร ศิริไพบูลย์ด้วยข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยพิจารณาฐานความผิดตามกฎหมายแล้ว อาจไม่รู้สึกว่าคดีนี้มีความแปลกประหลาด เพราะนับแต่ที่ คสช.ยึดอำนาจก็ได้มีการดำเนินคดีในฐานความผิดเหล่านี้อย่างเอิกเกริก แต่หากจะบอกว่าฐนกรถูกจับเพราะการกดไลค์ภาพบนเฟซบุ๊ก การโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และการแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ อาจจะพอทำให้เครื่องหมายคำถามลอยวนไปเวียนมาอยู่ในใจใครหลายคนได้บ้าง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี แม้หลักกฎหมายอาญาจะระบุว่าต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด แต่สำหรับการตั้งข้อกล่าวหาต่อฐนกรในคดีนี้มีลักษณะการขยายการตีความมาตรา 112 ให้ครอบคลุมไปถึงสุนัขทรงเลี้ยง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจยังออกมากล่าวโดยพร้อมเพรียงกันว่า แค่กด “ไลค์” ข้อความที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรานี้ไปด้วย ยิ่งพาให้ประชาชนตระหนกตกใจกันไปทั้งเมืองว่าเสรีภาพการแสดงออนไลน์ยุคนี้ยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง ในปีหน้าจึงน่าจับตาว่าทั้งพนักงานสอบสวน อัยการทหาร และศาลทหาร จะมีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไรต่อไป จะสร้างบรรทัดฐานของการตีความกฎหมายขยายความในลักษณะนี้หรือไม่ อย่างไร

ฐนกร

นายฐนกร  ศิริไพบูลย์ ขณะถูกนำตัวกลับเรือนจำหลังฝากขังผัดแรกเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2558 ภาพโดย  Banrsdr Photo

9. คดีลักหลับ: คดีโพสต์ข้อความปฏิวัติซ้อน

ควบคุมตัวจากบ้านไปค่ายทหารอย่างเงียบๆ อัยการสั่งฟ้องอย่างเงียบๆ และพิพากษาในวันนัดสอบคำให้การอย่างเงียบๆ สำหรับคดีของชญาภา จำเลยในคดีโพสต์ข่าวลือในทำนองว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนบนเฟซบุ๊ก ทำให้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับเพิ่มข้อหามาตรา 112 จากข้อความอื่นที่มีการโพสต์ด้วย การดำเนินกระบวนการยุติธรรม ‘อย่างเงียบๆ’ เช่นนี้อาจไม่ถึงขั้นลักหลับ ถ้าหากชญาภาจะไม่ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีนี้อยู่แล้ว และศาลทหารกรุงเทพจะนำตัวจำเลยมาในวันที่ฟ้องคดีเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม รวมถึงแจ้งวันนัดให้ทั้งจำเลย ญาติจำเลย หรือทนายความทราบล่วงหน้า

กรณีของชญาภานั้น เนื่องจากจำเลยอยู่ในการควบคุมของทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่นำตัวจำเลยมายังศาลในวันที่มีการฟ้องคดี ซ้ำยังไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องในครั้งแรก โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องไปให้จำเลยอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในวันนัดสอบคำให้การศาลยังได้พิพากษาจำคุกจำเลย โดยที่จำเลยทราบล่วงหน้าว่าต้องมาศาลในคืนก่อนวันนัดไม่กี่ชั่วโมง ขณะทนายความซึ่งไปติดตามนัดหมายคดีที่ศาลทหารมาโดยตลอดจนถึงก่อนวันนัดหนึ่งวัน ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ศาลทหารเพียงว่าคดีของชญาภานั้นยังไม่กำหนดวันนัด ทำให้วันรุ่งขึ้นที่นัดสอบคำให้การ ชญาภาถูกนำตัวมาศาลทหารกรุงเทพและมีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากทนายความในกระบวนการ ทั้งศาลยังยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบของทนายความในกรณีดังกล่าว ส่วนตัวชญาภาแจ้งแก่ทนายความว่าเพิ่งได้รับเอกสารหมายนัดหลังกลับไปทัณฑสถานหญิงกลางในวันที่มีการพิพากษา นับเป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติในการอำนวยความยุติธรรมของศาลทหารได้เป็นอย่างดี แต่ผลเสียทั้งหมดกลับตกอยู่กับประชาชน

10. คดีจับกุมคนป่วย: กรณีธเนตร อนันต์วงษ์ ถูกอุ้มจากโรงพยาบาลสิรินธร

ข่าวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2558 คงต้องมีเรื่องการตัดตู้รถไฟขบวนของนักศึกษา-นักกิจกรรมที่เดินทางไปในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ ติดอันดับเข้ามาด้วยอย่างแน่นอน แม้วันนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 36 คน จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ทว่ารัฐบาล คสช. กลับใช้วิธีตามเช็คบิลย้อนหลังรายบุคคล และธเนตร อนันตวงษ์ คือหนึ่งใน 36 คน ที่โดนคดีนำร่องไปก่อนใครเพื่อน

วันที่ 13 ธ.ค. 2558 ธเนตรอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิริธร เขาถูกควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ กว่า 6 วัน โดยไม่มีใครทราบชะตากรรม แม้เพื่อนจะพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอนำยาไปให้ธเนตร ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบ ทำให้ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตร เนื่องจากถูกควบคุมตัวมิชอบ ต่อศาลอาญาถึง 2 ครั้ง แต่ศาลกลับยกคำร้องโดยไม่ดำเนินการไต่สวนผู้ร้องทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน นับเป็นการยอมรับอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/58 โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ว่าเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทำให้ตลอดเวลาที่ธเนตรถูกควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าพบได้นั้น อาจจะทำให้ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายอีกด้วย

ธเนตร_banrasdr photo crop

ธเนตร อนันตวงษ์ เข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลหลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค.2558  ภาพโดย Banrsdr Photo

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : 10 คดีเด่นในศาลทหารประจำปี 2558 ตอนที่ 1

 

¹ เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

² ความเห็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อการตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี และต่อการตายของพันตำรวจตรีปรากรม วารุณประภา และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์

³ ประมวลเหตุการณ์คดีผู้ต้องหาวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad

 

 

ใส่ความเห็น