ฝากขังผู้ต้องหาโพสต์ผังราชภักดิ์ โพสต์รูปเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ศาลไม่ให้ประกัน

วันนี้(14 ธ.ค.58) เวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามได้นำนายฐนกร ศิริไพบูลย์มาฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ โดยศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 1 ถึงวันที่ 25 ธ.ค.58  ซึ่งถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมฯ, ม.112 จากการกดไลค์ข้อความ และโพสต์รูปเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และ 116 จากการโพสต์ผังอุทยานราชภักดิ์

นายฐนกร ศิริไพบูลย์ถูกควบคุมตัวในวันที่ 8 ธ.ค.58 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ โดยระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.ญาติและทนายความได้ตามหาที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและกองกำกับการ 2 กองปราบฯ แต่ไม่พบตัวนายฐนกรและไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้แนะนำตนต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามไว้และขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งทนายความเพื่อเข้าร่วมระหว่างการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายฐนกรมาฝากขังต่อศาลทหารในวันนี้และได้นำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจาก “คดีมีโทษสูงประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายอย่างอื่น อันเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน จึงไม่อนุญาต”

สำหรับคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 นั้นได้กล่าวหาว่านายฐนกรกระทำความผิดในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ กล่าวคือ

• การกดถูกใจภาพของเฟซบุ๊กบุคคลหนึ่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.58 อันเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ทราบความจริงเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
• การโพสต์รูปภาพ 3 รูปภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.58 ซึ่งมีข้อความประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวง
• การคัดลอกรูปภาพ “เปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์”จากทวิตเตอร์ไปยังเพจเฟซบุ๊ก “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.48 ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชอบพูดเรื่องการเมือง ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล เป็นการปลุกปั่นยุยงให้หมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นได้

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าคดีดังกล่าวมีการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการตั้งแต่การปกปิดสถานที่ในการควบคุมตัว การปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงทนายความ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1แล้ว โดยปกติพนักงานสอบสวนจะต้องบรรยายโดยละเอียดว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์อย่างไร ถ้อยคำหรือภาพที่กล่าวอ้างว่าดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทนั้นมีข้อความว่าอย่างไรแต่คำร้องดังกล่าวกลับไม่ระบุถ้อยคำที่ชัดเจนได้เพียงแต่ระบุองค์ประกอบทางกฎหมายเท่านั้น

ใส่ความเห็น