อังคารนี้ศาลนนทฯ นัดฟังพิพากษา ชาญวิทย์ คดี 112 เหตุแจกใบปลิวที่ท่าน้ำนนท์

1 ธ.ค. 2558 เวลา 09.00 น.  ศาลจังหวัดนนทบุรีได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ฟ้องนายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) ในความผิดตามม.112 จากเหตุการณ์ที่นายชาญวิทย์ แจกใบปลิววิเคราะห์การเมืองของประเทศไทยซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

เหตุคดีนี้เมื่อวันที่  25 พ.ย.2550 ได้มีการชุมนุมคัดค้านคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย ที่ท่าน้ำนนท์  โดยนายชาญวิทย์ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วยและจัดทำใบปลิววิเคราะห์สถานการณ์การเมืองประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้นอกจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษามาชุมนุมแล้ว ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบที่เข้าแฝงตัวสังเกตการณ์การชุมนุม จึงได้พบนายชาญวิทย์กำลังแจกใบปลิวอยู่ และเจ้าหน้าที่เห็นว่าข้อความในใบปลิวของชาญวิทย์น่าจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงโทรศัพท์แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นผู้บังคับบัญชาได้เดินทางมาที่เกิดเหตุ และได้ควบคุมตัวนายชาญวิทย์ไปสอบสวนที่สถานีตำรวจอำเภอเมืองนนทบุรี

อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล

วันที่ 18 ก.พ.2551 พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้องนายชาญวิทย์เป็นจำเลยในความผิดตามม.112 ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เลขคดีดำที่ อ. 837/2552 เป็นความผิด 4 กรรม เนื่องจากอัยการบรรยายในคำฟ้องว่าข้อความในใบปลิวของนายชาญวิทย์ที่แจกในวันที่ 25 พ.ย. 2550 มีข้อความหลายส่วนได้หมิ่นประมาทและดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคล 4 ตำแหน่ง ที่ม. 112 ครอบคลุมถึง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริษ์แห่งราชอาณาจักรไทย, พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชินี, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รัชทายาท

การหลบหนีคดีของนายชาญวิทย์

ต่อมาในวันที่ 21 เม.ย.2551 ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน โดยนายชาญวิทย์ยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานนายชาญวิทย์ไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ ศาลจึงระบุว่ามีเหตุสงสัยว่านายชาญวิทย์จะหลบหนีจึงได้ออกหมายจับนายชาญวิทย์และจำหน่ายคดีชั่วคราวออกจากสารบบ

จากคำเบิกความของนายชาญวิทย์ได้ระบุถึงเหตุผลในการหลบหนีดังกล่าวว่า1 เป็นเพราะหลังจากได้รับประกันตัว เขาไปแสดงความเห็นในงานเสวนาแล้วถูกนายชวน หลีกภัย ซึ่งมอบหมายให้นายเทพไท เสนพงศ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับเขา และตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว ทำให้เขาใช้สำนึกแห่งความเป็นธรรมส่วนตัวตัดสินใจไม่ไปฟังคำสั่งศาลว่าจะถอนประกันหรือไม่ โดยคิดว่าคดีนี้เป็นคดีทางความคิดและต้องการให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาประเมินเอาไว้เป็นจริงหรือไม่

เกือบ 7 ปีต่อมาในเหตุการณ์ระเบิดศาลอาญา

ในคืนวันที่ 7 มี.ค.2558 ได้เกิดเหตุบุคคลขว้างวัตถุระเบิดใส่บริเวณหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย 2 คน ได้ในที่เกิดเหตุ คือ นายยุทธนาและนายมหาหิน ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมตัวและสอบสวนในชั้นกฎอัยการศึก ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารได้ขยายผลจากการสอบสวนดังกล่าวไปดำเนินการจับบุคคลอื่นๆ อีกหลายคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุครั้งนี้

ภายหลังเกิดเหตุเพียงแค่ 2 วัน นายชาญวิทย์ได้ถูกควบคุมตัวบริเวณปากซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมีทหารนอกเครื่องแบบ 3 นายลงมาจากรถ และล็อกตัวเขาไว้โดยใช้กุญแจมือและปิดตาจับขึ้นรถไป ซึ่งนายชาญวิทย์ไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ใด นายชาญวิทย์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 6 วัน ก่อนถูกตำรวจนำตัวมาพบพนักงานสอบสวนและนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ  ปัจจุบันนายชาญวิทย์ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากนายชาญวิทย์ว่าตนถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกด้วย

นายชาญวิทย์ถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดี 112 (อีกครั้ง)

ในระหว่างที่นายชาญวิทย์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาถูกนำตัวไปศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อดำเนินคดีนี้อีกครั้ง หลังจากถูกจำหน่ายคดีชั่วคราวเมื่อเกือบ 7 ปีที่แล้ว

ศาลได้สืบพยานเมื่อวันที่ 15-16 ก.ย.2558 โดยก่อนเริ่มการสืบพยาน อัยการโจทก์แถลงว่าทางสำนักพระราชวังได้ส่งหนังสือมายืนยันว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทตามม.112 ทนายความได้ขอคัดถ่ายหนังสือฉบับดังกล่าวจากศาล แต่ศาลไม่อนุญาต

ฝ่ายโจทก์นำพยานมาสืบ 3 ปากเป็นตำรวจจากสภ.เมือง จ.นนทบุรี โดยเกี่ยวข้องในคดีเป็นผู้จับกุม ผู้ตรวจค้นยึดของกลาง และพนักงานสอบสวน การสืบพยานนัดนี้มีข้าราชการจากสำนักพระราชวัง 2 คน ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย จำเลยมีพยานมาสืบ 2 ปากคือ นายชาญวิทย์เองและรศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคดีนี้ศาลได้สั่งห้ามจดคำให้การของพยาน

นายชาญวิทย์ให้การว่าตนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งตั้งแต่ 14 ตุลา16, 6ตุลา 19 และยังได้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ คพท. ต่อมาปี 2535 เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2539 ก็เข้าร่วมเป็นคณะทำงานรณรงค์รัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2540 เขายังแสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นความหวังของการปฏิรูปทางสังคม แต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นการทำลายความหวังของการปฏิรูปลง เขาจึงได้จัดทำเอกสารวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากต้องการให้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นจริง นั่นคือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อัยการโจทก์ยังถามว่าข้อความในเอกสารใบปลิวได้สร้างความเสียหายต่อบุคคคลที่อ้างถึงหรือไม่ เขาบอกว่าไม่เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายให้กับคนที่เขาได้กล่าวถึงในเอกสาร อย่างไรก็ตามนายชาญวิทย์ได้ต่อสู้คดีนี้ว่าการกระทำของตนเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว เนื่องจากตนได้แจกใบปลิวเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แม้ว่าใบปลิวจะกล่าวถึงสถาบันฯ ตามที่ระบุไว้ในม. 112 แต่ก็เป็นการกระทำเพียงครั้งเดียว ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค.2558 เวลา 9.00 น.

ประเด็นสำคัญในคดีนี้ที่จะต้องพิจารณาว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ถือเป็นรัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112 หรือไม่ ถึงแม้ว่าเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวจะมีข้อความหมิ่นประมาทบุคคล 4 ตำแหน่ง ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ต้องถือผู้กระทำผิดมีเจตนาเดียวและเป็นความผิดกรรมเดียวไม่ใช่ความผิดต่างกรรมกันหรือไม่
.

.

.

.
1http://prachatai.org/journal/2015/09/61441

ใส่ความเห็น