เปิดรายงาน Land Watch ผลกระทบคำสั่งคสช. 64/57, 66/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานเรื่อง “ผลกระทบปฏิบัติการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 ฉบับที่ 66/2557 และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” จัดทำโดย กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch ภายใต้การสนับสนุนของสำนักประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.)

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเนื้อหารายงานฉบับนี้มีความน่าสนใจ เกี่ยวข้องกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากรภายหลังการรัฐประหาร จึงสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอในทีนี้

ทั้งนี้ ในรายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์และประเมินผลกระทบของคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ฉบับที่ 66/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่หลังการรัฐประหารจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2558 รายงานมีจำนวนทั้งหมด 42 หน้า และแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 ตอนหลัก

คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64, 66/2557 กับการรวบอำนาจการจัดการป่าไม้ในมือทหาร

ในส่วนแรก รายงานได้วิเคราะห์ถึงคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64, 66/2557 ว่าได้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มในการสั่งการ ควบคุม จัดระเบียบพื้นที่ใหม่ และรายงานผลการปฏิบัติงาน โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ต้องอยู่ภายใต้การติดตามรายงานผลต่อ กอ.รมน. โดยมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.

เส้นทางบังคับบัญชา

แผนผังแสดงเส้นทางการรายงานผู้บังคับบัญชาภายใต้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 64, 66/2557 (ที่มา http://www.isoc04.go.th/?page_id=67)

ภาษาที่ คสช. ใช้ในการออกคำสั่งทั้งสองฉบับยังเป็นภาษาที่แสดงถึงเจตจำนงของการใช้กำลังเข้าบังคับเป็นมาตรการหลัก ถึงแม้ คสช. จะตระหนักดีว่าภายหลังการจับกุม ปราบปรามผู้บุกรุกทำลายป่าได้แล้ว การฟื้นฟูป่าก็มิอาจใช้ความรุนแรงได้อีกต่อไป จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่กว้างขวางจากสังคมมากขึ้น และตระหนักว่าย่อมเกิดผลกระทบขึ้นโดยตรงกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า แต่คำสั่ง คสช. ก็มิได้มีวิธีการรองรับอย่างชัดเจนในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ เช่นเดียวกันกับการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ขาดหลักประกันว่าภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

โดยสรุป คำสั่งคสช.ทั้งสองฉบับจึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจการจัดการป่าไม้ให้อยู่ในมือของหน่วยงานทหาร ทั้งในระดับพื้นที่-ระดับนโยบาย และอาศัยมาตรการรุนแรงเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาป่าไม้เป็นมาตรการหลัก แทนมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดการลดทอนความซับซ้อนของปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ลง

ข้อสังเกตต่อรายงานผลการดำเนินงานของกอ.รมน.

รายงานฉบับนี้ได้ตั้งข้อสังเกตต่อรายงานผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. (ดูเว็บไซต์ใน www.isoc04.go.th) ที่เน้นไปที่ตัวเลขการจับกุมผู้กระทำผิด จำนวนคดี และจำนวนพื้นที่ที่ทำการยึดคืนมาได้ทั่วประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่า กอ.รมน. ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.

แต่ผลการดำเนินงานของ กอ.รมน.กลับไม่ปรากฏว่ามีการจับกุม ดำเนินคดีขบวนการลักลอบตัดไม้ หรือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่าแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในห้วง 4 เดือนแรกภายหลังของการออกคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ ในรายงานได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับบทวิเคราะห์ในเดือนมกราคม 2558 กอ.รมน. ก็ยอมรับว่ายังมีขบวนการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกที่ดินดำรงอยู่

ทั้งรายงานกอ.รมน.ยังไม่มีการจำแนกข้อมูลออกมาให้ประจักษ์ได้ว่าในจำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้นั้น เป็นนายทุน นักการเมือง เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนเท่าใด และเป็นประชาชนทั่วไปจำนวนเท่าใด ทำให้มีแนวโน้มที่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจะเป็นเพียงประชาชนที่อยู่ปลายสุดของขบวนการตัดไม้หรือบุกรุกที่ดิน หรือเป็นประชาชนผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าเท่านั้น

รายงานได้ตั้งคำถามว่าหากว่ามีเครือข่ายขบวนการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกที่ดินอยู่จริง เหตุใดหน่วยงานทหารที่มีทั้งกองกำลังและกฎอัยการศึกจึงไม่สามารถดำเนินการถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังการทำลายป่าได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งกล่าวได้หรือไม่ว่า “เครือข่ายขบวนการตัดไม้บุกรุกที่ดิน” เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้มีการใช้มาตรการรุนแรงอย่างสมเหตุสมผลได้เท่านั้น

ผลกระทบของคำสั่ง คสช. ต่อประชาชนในเขตป่า

ในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 เน้นย้ำว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ และให้มีกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีความสืบเนื่องต่อกันมา แต่เนื่องจากมาตรการหลักของคำสั่ง คสช. คือการใช้กำลังเข้าจับกุม และทวงคืนพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับภาครัฐ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปด้วย

รายงานนี้ได้แบ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในเขตป่าเป็น 3 ลักษณะ คือลักษณะที่ 1 มีการข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ และดำเนินคดีในพื้นที่สาธารณะประโยชน์/พื้นที่สัญญาเช่าเกิดขึ้น ลักษณะที่ 2 มีการไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผลอาสินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยใช้คำสั่งทางปกครอง และลักษณะที่ 3 มีการจับกุมดำเนินคดี

ข้อมูลของรายงานระบุว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด โดยรายงานได้พิจารณาตัวอย่างกรณีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กรณีสวนป่าโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย จังหวัดชัยภูมิ, กรณีบ้านห้วยหกลีซู จังหวัดเชียงใหม่ และกรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ตารางแสดงลักษณะผลกระทบจากคำสั่ง คสช. จำแนกรายภาค

ลักษณะผลกระทบ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก     เฉียงเหนือ ภาคใต้ รวม
ข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ และดำเนินคดีในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ /พื้นที่สัญญาเช่า 0 115 111 226
ไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผลอาสินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยใช้คำสั่งทางปกครอง 21 146 120 287
จับกุมดำเนินคดี 72 93 3 168
รวมทั้งหมด 93 354 234 681

โดยสรุปคำสั่ง คสช. ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับประชาชนที่อาศัยและทำกินในเขตป่า ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อนหน้าหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งเมื่อมีการเจรจาในระดับขบวนการภาคประชาชนกับตัวแทนรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน คำสั่ง คสช.ก็ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ ดำเนินการตามที่ตัวเองเห็นสมควร ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก

กฎอัยการศึกในฐานะที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันของภาคประชาชนกับภาครัฐ

ประเด็นต่อมา เนื่องจากรายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลในช่วงที่มีการใช้กฎอัยการศึกอยู่ (ประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558) จึงได้วิเคราะห์การใช้กฎอัยการศึกว่านอกจากจะทำลายเสรีภาพทางการเมืองโดยพื้นฐานแล้ว ยังได้ส่งผลต่อการที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรมาโดยตลอด และยิ่งบั่นทอนรากฐานประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย

รายงานชี้ให้เห็นว่ามีการขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎอัยการศึกออกไปอย่างกว้างขวาง และกระทบต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งหมด โดยขยายขอบเขตการบังคับใช้ออกไปสู่การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการรัฐประหาร ถึงแม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนโดยตัวของมันเองนั้นเป็นการเมืองด้วยเช่นกัน หากแต่ก็มิใช่การเมืองที่มุ่งคุกคามต่อการดำรงอยู่ของ คสช.

นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎอัยการศึกกับกลุ่มประชาชนเพียงฝ่ายเดียวในขณะที่มีคู่ขัดแย้งสองฝ่ายดำรงอยู่ เช่น ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับบริษัทที่เข้าดำเนินโครงการต่างๆ ได้สร้างความคลางแคลงใจขึ้นมาในขบวนการภาคประชาชนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคู่ขัดแย้งที่ยืนอยู่ในฝั่งตรงกันข้ามหรือไม่

ปัญหาเชิงแนวคิดของแผนแม่บทป่าไม้

ในส่วนที่ห้าของรายงาน ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาเชิงแนวคิด 9 ประการของแผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่เป็นข้อจำกัด และสร้างปัญหาในการจัดการปัญหาที่ดินป่าไม้ มากกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการทำลายป่าได้

แผนแม่บท

แผนภาพแสดงเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาของแผนแม่บท (ที่มา: แผนแม่บทป่าไม้ฯ หน้า 3)

ประเด็นที่ 1 ขาดการมีส่วนร่วมและมีความเร่งรีบในการดำเนินการ แผนแม่บทป่าไม้นั้นจัดทำโดยกลุ่มคนเพียง 17 คน (ที่ปรึกษา 5 คน, คณะผู้จัดทำ 12 คน) ในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารถึง 11 นาย ไม่มีสัดส่วนของตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ใช้ระยะเวลาจัดทำไม่ถึง 45 วัน นับจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66/2557 มีผลบังคับใช้ ทำให้ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 ขาดความเข้าใจพัฒนาการของปัญหาที่ดินและป่าไม้ ชาวบ้านในเขตป่ากลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยรายงานได้ทบทวนข้อเท็จจริงของปัญหาการบุกรุกป่าหลายประการ ได้แก่ การสัมปทานทำไม้โดยรัฐ ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 92 ปี (นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 จนถึงปี 2531) เป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของป่าไม้, นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทำกินและการตั้งถิ่นฐานในเขตป่า, ปัญหาการประกาศเขตป่าของรัฐทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่ตั้งชุมชน หรือปัญหาความไม่ชัดเจนและแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกัน

ประเด็นที่ 3 การกำหนดเป้าหมายแผนแม่บทฯ ให้เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อย 40 % ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งถูกกำหนดจากมติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 (29 ปีที่แล้ว) นั้น ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทการเปลี่ยนแปลงทางของสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรที่ทวีความซับซ้อนในปัจจุบัน  ทั้งประชากรไทยทั้งประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายดังกล่าว ทำให้เกิดการกีดกัน เลือกปฏิบัติกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและถูกประกาศเขตป่าทับซ้อนอย่างไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 4 การกำหนดพื้นที่ที่ประชาชนรักษาป่าไว้ดีอยู่แล้วให้กลายเป็น “พื้นที่วิกฤติรุนแรง” โดยมีการกำหนด “พื้นที่วิกฤติรุนแรง”ที่ต้องเร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและการทวงคืนพื้นป่าจำนวน 12 จังหวัด ข้อเท็จจริงพบว่าจังหวัดเหล่านี้ยังคงมีพื้นที่ป่ามากกว่า 40% ตัวอย่างเช่น จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีพื้นที่ป่ากว่า 86.89 % ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนั้น มีศักยภาพในการจัดการดูแลรักษาป่าได้ดีกว่า กลับถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่วิกฤติรุนแรงในแผนแม่บทฯ แต่จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเหลือน้อย หรือไม่เหลือเลย กลับไม่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่วิกฤติ

ประเด็นที่ 5 แผนแม่บทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาป่าบุกรุกคน โดยการใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นสรณะในการพิสูจน์สิทธิของชุมชน โดยไม่นำข้อมูล ข้อเท็จจริงอื่นๆ มาประกอบ ทำให้มีชุมชนจำนวนน้อยที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิตามมติดังกล่าว เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติเขาปู่ – เขาย่า (ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง) มีผู้ที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิเพียง 4% เท่านั้น เนื่องจากชุมชนในพื้นที่นี้แต่ดั้งเดิมทำสวนยางพาราผสมผสานกับผลไม้ ซึ่งภาพถ่ายทางอากาศที่มองจากด้านบนไม่สามารถแยกแยะพื้นที่สวนไม้ยืนต้นจากพื้นที่ป่าได้

ประเด็นที่ 6 วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไม่ได้รับการรับรองสิทธิ เช่น กรณีชาวปกาเกอะญอ ได้พยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงระบบการจัดการที่ดินและป่าไม้ที่เหมาะสม เพื่อรักษาผืนดินและต้นน้ำเอาไว้ ตัวอย่างหรือรูปแบบต่างๆ เหล่านั้น นอกจากจะไม่มีการกล่าวถึงไว้ในแผนแม่บทฯ แล้ว คนเหล่านี้ยังจะกลายเป็นผู้ที่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่อีกด้วย

ประเด็นที่ 7 การมุ่งเน้นการยึดคืนพื้นที่ อพยพ ควบคุม และปราบปรามส่งผลกระทบรุนแรงกับชุมชนในเขตป่า ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ลำดับแรกของแผนแม่บทฯ จาก 4 ยุทธศาสตร์นั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับชุมชนในเขตป่า และในกรณีที่มีการดำเนินการอพยพชุมชนนั้นจะมีการชดเชยหรือไม่ก็ได้ ทั้งยังสามารถทำลาย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ต้องรอการพิจารณาตัดสินของศาล

3

เจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้เข้าไปปิดประกาศให้ชาวบ้านในชุมชนโคกยาวรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินออกจากพื้นที่สวนป่าโคกยาว จังหวัดชัยภูมิ

ประเด็นที่ 8 ความล้มเหลวของการฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกป่าทดแทน ในอดีตมีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในโครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้ และการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขการสัมปทานป่าไม้ แต่ 92 ปีของการให้สัมปทานทำไม้ รัฐบาลสามารถปลูกป่าได้เพียงประมาณ 1 ล้านไร่ (ข้อมูลจาก “ข้อเสนอทางนโยบาย: การจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้” โดยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 2551) ทั้งยังเป็นการปลูกไม้เพียงชนิดเดียว ยิ่งกว่านั้น การปลูกป่ายังเข้าไปปลูกทับซ้อนในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวน ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีการปลูกป่าในหลายพื้นที่ของประเทศ

ประเด็นที่ 9 แผนแม่บทฯ ไม่ได้กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีอื่นๆ เช่น “มติ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553” เรื่องแนวนโยบาย“การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ซึ่งมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เอื้อต่อวิถีวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชน

ข้อเสนอแนะ

รานงานชิ้นนี้ได้สรุปว่าคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/57, 66/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า เป็นปัญหาต่อความร่วมมือในการบริหารจัดการป่าระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดหากยังปล่อยให้สถานการณ์ความตึงเครียด ความขัดแย้งดำรงอยู่ก็จะยิ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูป่าตามที่ คสช. ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้แต่อย่างใด โดยจากผลการศึกษาดังกล่าว รายงานจึงได้มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. ยกเลิกการบังคับใช้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66/2557 และยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ โดยเฉพาะการจับกุมแบบเหวี่ยงแห การตัดฟันพืชผล รื้อถอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของประชาชน โดยปราศจากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับองค์กรชาวบ้านในพื้นที่
  2. ยุติการนำเอากฎอัยการศึกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินป่าไม้ และให้เสรีภาพองค์กรภาคประชาชนในการจัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงปัญหาความเดือดร้อน การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขปัญหา การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน ตลอดจนการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ที่มีเจตนาเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินป่าไม้
  3. มีมาตรการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะในกรณีที่ชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่เดิมและถูกเจ้าหน้าเข้าตัดฟัน ทำลายพืชผล สิ่งปลูกสร้างโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเข้าดำเนินการ
  4. มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะการตรวจสอบดูว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ทำกินมาตลอดหรือไม่
  5. ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยจัดทำกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการทบทวนเนื้อหาของแผนแม่บทฯ
  6. ผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง การจัดการที่ดินโดยภาคประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารที่ดิน และพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนมากยิ่งขั้น

ใส่ความเห็น