พยานโจทก์รับ ‘บก.ลายจุด’ มีสิทธิต้านรัฐประหารตาม รธน.

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ คดี ‘บก.ลายจุด’ ถูกฟ้องว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 พยานโจทก์เบิกความต่อศาลว่า ขณะควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวสมบัติ บุญงามอนงค์ แต่รับตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่าการต่อต้านรัฐประหารของสมบัติ กระทำโดยสันติวิธีตามสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย

วันนี้  (24 ส.ค. 2558)  ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่ บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกฟ้องว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เวลา 08.30 โดยพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา ผู้ช่วยเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นและพบตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์

ตุลาการศาลทหารกรุงเทพออกนั่งพิจารณา เวลา 09.30 น. พ.ต.ท.วันพิชิต ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า ได้รับทราบจากผู้บังคับบัญชาว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นบุคคลผู้ถูกเรียกให้รายงานตัวต่อ คสช. ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2557 ลำดับที่ 60 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แต่ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศดังกล่าว ตนจึงได้รับคำสั่งให้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ให้เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะพบตัวนายสมบัติ และได้พบตัวของนายสมบัติในพื้นที่เป้าหมายจริง เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ม.8 และ ม.9 ในการควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ วันที่ 5 มิ.ย. 2557 ที่ จ.ชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับกุม ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ตรวจค้นพบ ดำเนินการเก็บ และนำส่งของกลางต่อพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจพิสูจน์ต่อไป

ทั้งนี้ พ.ต.ท.วันพิชิต ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่าการรัฐประหารจะถือว่ามีผลสมบูรณ์เมื่อใด รวมถึงรับตามที่ทนายถามค้านว่า การกระทำของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ออกมาต่อต้านการทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของ คสช. เป็นการกระทำโดยสันติวิธี ตามสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ม.69 ที่ระบุให้บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และ ม.70 ที่ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ 

นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังยอมรับตามที่ทนายถามค้านอีกว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ตาม ม.4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลทหารไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพิจารณา และการสืบพยานบุคคลปากดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น ศาลจึงได้เลื่อนออกไปสืบอีกในนัดหน้า วันที่ 15 กันยายน 2558 เวลา 08.30 น. โดยที่ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานบุคคลที่จะต้องนำเข้ามาสืบอีกทั้งหมดจำนวน 8 ปาก

ใส่ความเห็น