ควบคุมการแสดงความเห็นต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ้างมาตรา 44 – พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

2 ต.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจอ้าง มาตรา 44 และ พ.ร.บ.ชุมนุม ห้ามไม่ให้เครือข่ายรักษ์บำเหน็จณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินสวมเสื้อสกรีนข้อความต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และรวมตัวชุมนุมกัน ในการประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกอบกิจการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่ อบต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

ที่ประชุมดังกล่าวนำโดยรองผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม  สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3 ตำบล  ได้แก่  อบต.บ้านเพชร  อบต.บ้านตาล  และ อบต.หัวทะเล  ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง  และภาคประชาชน  ซึ่งบางคนเล่าว่าทราบข่าวการประชุมจากการบอกต่อ ๆ กันในกลุ่มชาวบ้าน

ระหว่างการประชุม พ.ท.สุรชัย ชอบชื่น รองหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความสงบเรียบร้อยในการประชุม ได้ชี้นิ้วให้ชาวบ้านที่ใส่เสื้อคัดค้านออกจากห้องประชุม  โดยอ้างว่าการใส่เสื้อคัดค้านเป็นการสร้างความแตกแยก ไม่ปรองดอง และผิด ม.44 เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย  ทำให้ภาพลักษณ์ของจังหวัดเสียหาย หากใครไม่ถอดเสื้อให้ออกไป  ไม่ให้เข้าร่วมประชุม และจะนำตัวไปปรับทัศนคติ

ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ถอดเสื้อออกทันที คนที่ไม่มีเสื้อสำหรับเปลี่ยน ใช้วิธีสวมเสื้อกลับด้านไม่ให้เห็นข้อความคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนตัวแทนบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน สามารถสวมเสื้อปักคำว่า “โปแตชชัยภูมิ” ที่แขนเสื้อ และมีตราสัญลักษณ์ของบริษัทฯที่หน้าอกได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขึ้นมาอ้าง ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่กล้ารวมตัวกัน ได้แต่กระจายอยู่โดยรอบ อบต.บ้านเพชร

นอกจากนี้ ขณะที่ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า “ปลากินไม่ได้ต้องย้ายบ้านหนี แล้วจะสร้างไปทำไมโรงไฟฟ้า”  พ.อ.ยงยุทธ ได้ขอให้หยุดแสดงความเห็น เนื่องจากเห็นว่าเป็นความเห็นที่สร้างความแตกแยก ซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าพฤติการณ์ห้ามแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เป็นการข่มขู่รูปแบบหนึ่ง

ด้านบรรยากาศในการประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกอบกิจการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ส่วนใหญ่ถูกควบคุมให้สงบเรียบร้อย มีการฉายสไลด์เพื่ออธิบายผลกระทบด้านบวกที่ได้จากการจ้างงาน ผลประโยชน์ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับผ่านภาษีประเภทต่าง ๆ การไปดูงานการทำเหมืองแร่ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ โรงงานคัดขนาด จัดเก็บและขนถ่ายถ่านหินของ บริษัท SCG เทรดดิ้ง จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด จ.ปทุมธานี

จากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ตั้งคำถามต่อนักวิชาการและบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งถูกว่าจ้างให้จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในหลายประเด็น เช่น ผลกระทบจากฝุ่นละออง  มลพิษในชั้นบรรยากาศ  การขนส่งลำเลียงถ่านหิน การเยียวยาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนทั้งอำเภอ หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อรองรับการเปิดเหมืองแร่โปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเกลือที่ถูกขุดขึ้นมา

เจ้าหน้าที่จากบริษัทที่ปรึกษาอธิบายประเด็นผลกระทบว่า  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำ EIA เท่านั้น  และเวทีนี้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น  ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงาน EIA  ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอ เนื่องจากรู้สึกว่าถูกหลอกให้มาร่วมเวที และเมื่อมีการตั้งคำถามมากขึ้น พ.อ.ยงยุทธ มักกล่าวในทำนองว่าจะเกิดผลเสียต่อบรรยากาศการพูดคุยซึ่งกำลังเป็นไปด้วยดี ไม่ควรตั้งคำถามสร้างความแตกแยก

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.บำเหน็จณงรค์ ที่มีแผนจะสร้าง มีกำลังผลิต 55 เมกกะวัตต์ นำเข้าถ่านหินมาจากประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ผ่านการขนส่งทางเรือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และขนขึ้นรถบรรทุกมายังโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการแยกแร่โปแตช

แก้ไขข้อมูล

ใส่ความเห็น