‘เจเจ สเปรย์กระป๋อง’ ยื่นอุทธรณ์ คดีทำให้เสียทรัพย์พ่นสีป้ายศาลอาญา

13 ต.ค. 58 ‘เจเจ’ ณัฐพล เข็มเงิน จำเลยคดีพ่นสีสเปรย์บนป้ายศาลอาญา ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หรือพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุก หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี

ในอุทธรณ์ อ้างเหตุผลว่า การกระทำของเจเจที่ใช้สีสเปรย์พ่นลงบนป้ายศาลอาญาไม่เป็นการทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากป้ายศาลอาญายังสามารถใช้งานได้ตามปกติ  การพ่นสีเป็นเพียงการทำให้ไม่สวยงาม ซึ่งสามารถใช้น้ำยาลบทำความสะอาดได้ และแม้เจเจจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะต้องพิพากษาลงโทษเสมอไป ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.185 วรรคแรก

ทั้งป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญาไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงหรือประชาชนมีสิทธิที่จะใช้และใช้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ

แต่ป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรม หน้าศาลอาญา ซึ่งราชการได้สร้างไว้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ราชการ แม้สถานที่ราชการจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ก็เป็นทรัพย์สินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ถือเป็นทรัพย์ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายอาญา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นโทษที่หนักเกินไปและไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี

“เจเจ สเปรย์กระป๋อง” ฉายาที่ชาวเน็ตตั้งให้กับณัฐพล เข็มเงิน ชายหนุ่มนักดนตรีพังค์วัย 22 ปี หลังไปพ่นสีสเปรย์ลงบนป้ายศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2558 ด้วยความคับแค้นใจที่รุ่นพี่ถูกยิงเสียชีวิตและคดีไม่มีความคืบหน้า ภายหลังพ่นสีสเปรย์ลงบนป้ายศาลอาญา เจเจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวในวันที่ 25 พ.ค. 58 และถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี

  • คดีแรก ละเมิดอำนาจศาล

คดีแรก เจเจถูกผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา โดยสุนันท์ นาคะ นิติกรชำนาญการพิเศษศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา ว่าเขาได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  ศาลไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 58

เจเจ ให้การยอมรับว่า ได้พ่นสีสเปรย์ลงบนป้ายศาลอาญาจริง  ที่กระทำไปเนื่องจากความคับแค้นใจที่รุ่นพี่ซึ่งตนรักถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงตาย แต่ไม่ทราบความคืบหน้าของคดี จึงได้กระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยินดีที่จะช่วยศาลทำความสะอาดและบำเพ็ญประโยชน์

ศาลเห็นว่า เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล จึงมีคำสั่งว่าเขากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.31 (1) และ ม.33 ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากจำเลยไม่ได้ประพฤติตนให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและไม่กระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแต่อย่างใด

  • คดีที่สอง ทำให้เสียทรัพย์

หลังคดีแรกเสร็จสิ้นเพียงเดือนกว่า วันที่ 10 ก.ค. 58 เจเจถูกพนักงานอัยการ ยื่นฟ้องเป็นความผิดในคดีที่สอง ฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.360 และความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ม.12, ม.35, ม.54 และ ม.56

อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2558 จำเลยได้บังอาจทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ซึ่งอยู่บนกำแพงติดกับถนนรัชดาภิเษก หน้าอาคารศาลอาญา โดยใช้สเปรย์สีดำฉีดพ่นสัญลักษณ์เป็นภาพตัวอักษรพยัญชนะภาษาอังกฤษ (A) มีวงกลมล้อมรอบ ลงบนป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา จำนวน 2 แห่ง เป็นเหตุให้ป้ายชื่อสำนักงานศาลยุติธรรมศาลอาญา ที่ส่วนราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์เกิดความเสียหาย และเสื่อมค่า
เจเจให้การรับสารภาพ ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 14 ก.ค. 58  ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษคงจำคุก 1 ปี

สำหรับคดีที่สอง ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องในข้อเท็จจริงให้แจ้งชัดว่า การกระทำของเจเจทำให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมค่าอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

อีกทั้งศาลอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคุมความประพฤติสืบเสาะและพินิจอายุ  ประวัติ  ความประพฤติและสภาพความผิดและเหตุอื่นอันควรปรานีของจำเลย  ประกอบการพิจารณาพิพากษาก็ได้ แต่คดีนี้ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน  โดยไม่ระบุเหตุผลที่ไม่รอการลงโทษไว้ในคำพิพากษา ทั้งที่คดีที่มีความผิดลักษณะเดียวกันโดยส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษาลงโทษปรับ หรือโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาเท่านั้น

ขอบคุณภาพข่าวจาก ประชาไท

ใส่ความเห็น