จับตา 2-4 ก.พ. ศาลเชียงใหม่นัดสืบพยานคดีพ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์กรณี‘ทหารตบหน้าชาวบ้าน’

ในช่วงวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ นี้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีการนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1676/58 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับนายไมตรี จำเริญสุขสกุล (หรือเจริญสืบสกุล) ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร

คดีนี้มีความน่าสนใจทั้งในแง่เหตุที่มาของคดี ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว (2558) กรณีที่ชาวบ้านในชุมชนชายแดนระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำร้ายโดยการ ‘ตบหน้า’ ประชาชนหลายคน ก่อนที่จำเลยในคดีนี้จะเป็นผู้โพสต์เรื่องดังกล่าวในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือในแง่การใช้กฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารใช้การแจ้งความด้วยข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อผู้เผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อกองทัพ และในแง่ภูมิหลังของจำเลย ที่เป็นทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีบทบาทเป็นคนทำงานทางสังคม และทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองในพื้นที่

รายงานชิ้นนี้สรุปความเป็นมาเบื้องต้นของคดีนี้ ประวัติส่วนตัวของจำเลย และประเด็นที่น่าติดตามจากการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท

เมื่อทหารแจ้งความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

การเข้าแจ้งความในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.58 โดย ร.อ.พนมศักดิ์ กันแต่ง เจ้าหน้าที่ทหารจากฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย ได้เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย โดยระบุว่านายไมตรีได้เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊ก กล่าวถึงทหารจากฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัยว่าได้ทำร้ายเด็กและผู้ใหญ่หลายคนขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพตัดต่อทหารโต้เถียงกับประชาชนมาเผยแพร่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารระบุว่าเหตุการณ์การทำร้ายดังกล่าวเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น

เจ้าหน้าที่ทหารยังระบุว่าโดยข้อเท็จจริง ตามวันเวลาดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ทหารประจำฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย เข้าไปช่วยระงับเหตุการณ์ที่มีชาวบ้านมาแจ้งว่ามีกลุ่มวัยรุ่นบ้านเมืองนะกลาง และวัยรุ่นบ้านกองผักปิ้งก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเห็นว่านายไมตรีได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ทหาร

ภายหลังมีการแจ้งความ ร.ต.อ.สงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวนสภ.นาหวาย อำเภอเชียงดาว ได้เรียกตัวนายไมตรีไปรับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำปากคำเมื่อวันที่ 11 ก.พ.58 โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 คือนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไมตรีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่’ และปากเสียงของชุมชน

พื้นที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือบ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีประชากรราว 80 หลังคาเรือน โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ไกลจากตัวอำเภอเชียงดาวไปราว 50 กิโลเมตร มีหมู่บ้านของหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่ไกลจากกัน และยังมีหน่วยของเจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำอยู่ คือฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย

สำหรับผู้ต้องหาในคดีนี้ คือนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ขณะเกิดเหตุอายุ 31 ปี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ และนับถือศาสนาคริสต์ พื้นเพเป็นคนบ้านกองผักปิ้งโดยกำเนิด เขาจบการศึกษานอกโรงเรียนเทียบเท่าระดับชั้นม.6 และจบการศึกษาเพิ่มเติมด้านศาสนศาสตร์ ปัจจุบันสมรสแล้ว และมีบุตรสองคน

ด้านการประกอบอาชีพ ไมตรีเคยไปทำงานสอนเยาวชนในโบสถ์ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับเพื่อนเปิดร้านขายโทรศัพท์-อุปกรณ์มือถืออื่นๆ อยู่ไม่ไกลจากบ้านกองผักปิ้ง ก่อนร้านจะประสบปัญหาขาดทุน ทำให้เพิ่งปิดกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากการทำมาหาเลี้ยงครอบครัวตามปกติ ไมตรียังมีบทบาทในการทำกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ไมตรีเล่าว่าเขาตระหนักถึงปัญหาที่เด็กเยาวชนในหมู่บ้าน “ติดกาว” กันเป็นจำนวนมากตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้พยายามริเริ่มดึงเยาวชนที่มีปัญหายาเสพติดหรือปัญหาในครอบครัว มาอาศัยอยู่ร่วมกันและส่งเสริมการทำกิจกรรมด้วยกัน ทั้งการเล่นดนตรี การแต่งเพลง การจัดเวทีการแสดงต่างๆ มาจนถึงการทำภาพยนตร์สั้นในระยะหลัง

ในช่วงหลัง ไมตรียังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาวะให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไมตรีเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนลาหู่ และส่งเสริมการรักษาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ และได้เริ่มตั้งชื่อกลุ่มเยาวชนว่าเป็น “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” โดยมีเยาวชนชาติพันธุ์มากกว่า 100 คน เคยร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มมาแล้ว

ไมตรียังเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ทำให้เขามีทักษะการถ่ายทำภาพยนตร์และการตัดต่อ เคยกำกับภาพยนตร์สั้นด้วยตนเองมาแล้วหลายเรื่อง เช่น เรื่องบ้านฉัน, เรื่องจะโบแปลว่าผู้มีวาสนา เป็นต้น รวมทั้งเคยทดลองทำหนังยาวในแบบมือสมัครเล่นด้วยตนเองอีกด้วย

นอกจากนั้น ไมตรีเคยเข้าร่วมการอบรมโครงการผู้สื่อข่าวพลเมืองกับทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขาจึงมีบทบาทในการส่งรายงานข่าวจากพื้นที่ ทั้งปัญหาเรื่องสัญชาติ หรือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สังคมได้รับรู้ ไมตรีจึงมีบทบาทเป็น “ปากเสียง” ให้กับผู้คนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่าในคืนส่งท้ายปีเก่าจาก ‘บ้านกองผักปิ้ง’

จากบทบาททางสังคมดังกล่าว ทำให้ไมตรีเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านกองผักปิ้ง และนำไปสู่การถูกดำเนินคดีนี้

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากชาวบ้านในบ้านกองผักปิ้ง ระบุยืนยันว่ามีเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายชาวบ้านเกิดขึ้นจริง โดยในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค.57 เวลาราว 20.30 น. ระหว่างที่กลุ่มชาวบ้านกว่า 10 คน กำลังนั่งล้อมวงผิงไฟอยู่บริเวณมุมของลานสนามกีฬาราดปูนเล็กๆ ภายในหมู่บ้าน ได้มีรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ พร้อมกับรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ขับเข้ามาจอดบริเวณถนนติดกับลานสนามกีฬา พร้อมมีการส่องไฟหน้ารถเข้ามาทางกลุ่มชาวบ้านที่กำลังผิงไฟอยู่

จากนั้น ชาวบ้านระบุว่าได้มีกลุ่มบุคคลเป็นชายแปลกหน้าประมาณ 5 คน ในชุดนอกเครื่องแบบ แต่บางรายใส่กางเกงทหาร และมีคนหนึ่งถือปืนยาวในมือ ขณะที่หลายคนพกปืนสั้น ทั้งบางรายยังใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ทั้งหมดได้เดินเข้ามาหากลุ่มชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนตกใจกลัว วิ่งหนีออกไปก่อน ขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกราว 7 คน นั่งล้อมวงอยู่ ไม่ได้ลุกหนีไปไหน ในจำนวนนี้มีหญิงสูงอายุ 1 ราย และเด็กชายอายุช่วงสิบปีต้นๆ จำนวน 3 คน

ชายกลุ่มดังกล่าวเข้ามาถึง ก็มีการสั่งให้ชาวบ้านก้มหน้าลง ไม่ให้เงยหน้าขึ้น พร้อมกับมีการนำปืนมาจี้ ก่อนที่ชายคนหนึ่งในกลุ่มจะใช้ฝ่ามือตบที่ใบหน้าชาวบ้านทีละคน จนเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกตบถึงกับร้องไห้ ชายคนดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวชี้แจงใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่มีใครทราบสาเหตุการทำร้ายนี้ และชายคนดังกล่าว ก็ได้เดินหลบหายตัวไปทันที โดยขณะนั้นยังมีไฟจากรถกระบะส่องมาที่กลุ่มชาวบ้าน ทำให้เห็นใบหน้าของชายคนดังกล่าวไม่ชัด

สักพักหนึ่ง ชาวบ้านในหมู่บ้านทยอยกันออกมาดูว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดหนึ่ง ราว 5 นาย ขับรถเดินทางตามมา ส่วนชายนอกเครื่องแบบที่เหลือก็ยังอยู่ในบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่าได้เกิดเหตุที่วัยรุ่นชาวไทใหญ่และชาวลาหู่ทะเลาะกัน เจ้าหน้าที่จึงขึ้นมาติดตาม

ส่วนชาวบ้านที่ตามมาถึง เมื่อทราบว่าคนที่ถูกตบหน้า มีคนแก่และเด็กด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น และต้องการให้เจ้าหน้าที่ขอโทษ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะมีการนัดหมายไปทำความเข้าใจกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในวันรุ่งขึ้น

จากเหตุการณ์ขณะนั้น ชาวบ้านเชื่อว่ากลุ่มชายนอกเครื่องแบบดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะมีทั้งการพกพาอาวุธปืน และมีท่าทางสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดที่ติดตามขึ้นมา ไมตรีแม้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในคืนนั้น แต่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน จึงได้ช่วยสื่อสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

12665729_456618531200469_2000438773_n

ลานปูนสำหรับเล่นกีฬาในหมู่บ้าน และสถานที่เกิดเหตุในคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 ขณะชาวบ้านนั่งผิงไฟ

ในเช้าวันที่ 1 ม.ค.58 ชาวบ้านหลายสิบคนได้เดินทางไปขอความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ โดยไมตรีก็ร่วมไปกับชาวบ้านด้วย การพูดคุยเกิดขึ้นที่หน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ทหารหาคนที่ทำร้ายชาวบ้านมากล่าวขอโทษ โดยยืนยันว่าทหารน่าจะทราบเรื่อง เพราะเป็นคนที่มาด้วยกัน แต่ทหารที่พูดคุยกับชาวบ้าน ยังคงปฏิเสธไม่รู้ว่าใครเป็นคนตบ จึงมีการโต้เถียงกันอีกครั้ง ก่อนทางผู้นำชุมชนจะพยายามเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

หลังจากการพูดคุย ชาวบ้านเห็นร่วมกับไมตรีในการโพสต์คลิปวีดีโอการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนที่ข้อความและคลิปดังกล่าวจะถูกคัดลอกและนำไปเผยแพร่ต่อจำนวนมาก โดยไมตรีระบุว่าได้มีเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นำโพสต์ของเขาไปเพิ่มเติมข้อความเอาเองในลักษณะโจมตีทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจของเขาและชาวบ้าน รวมทั้งในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ทหารยังได้ติดต่อมาที่ผู้นำชุมชน ขอให้มีการลบโพสต์ออก ทำให้เขาตัดสินใจลบข้อความและคลิปในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองออก แต่ก็พบว่าในเพจอื่นๆ ที่ได้มีการคัดลอกไปแล้ว ยังคงมีข้อมูลปรากฏอยู่

ไม่กี่วันจากนั้น ไมตรีได้ทราบว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. เจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าแจ้งความเอาผิดเขาจากการโพสต์ข้อความและคลิปดังกล่าว

ยืนยันต่อสู้คดี

ภายหลังไมตรีเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการ ก่อนที่วันที่ 7 พ.ค. 58 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายจำเลยได้ซื้อหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล โดยรวมเงินประกันตัวจำนวน 50,000 บาท และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

จากนั้นศาลได้มีการนัดสอบคำให้การ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.58 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมแถลงข้อต่อสู้คดีว่าจะต่อสู้ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสุจริตในส่วนได้ส่วนเสียของตนและชาวบ้านทีเกี่ยวข้อง ขณะที่ทางฝ่ายโจทก์ได้ขอนัดสมานฉันท์คดี ศาลจึงให้ส่งคดีเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีก่อน ถ้าหากตกลงกันไม่ได้ ค่อยกำหนดวันนัดพิจารณาต่อไป

ในการสมานฉันท์คดีเมื่อวันที่ 10 ก.ย.58 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารผู้แจ้งความ และเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายเข้าร่วมพูดคุยด้วย โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่ากรณีนี้ ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอน เพราะทำให้กองทัพเสื่อมเสีย เจ้าหน้าที่ทหารที่มาพูดคุยด้วยจึงไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจจะแถลงไม่ติดใจจำเลย หรืออำนาจจะขอถอนคดี ขณะที่ทางจำเลยเองก็ยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป เนื่องจากเชื่อว่าตนไม่ได้กระทำความผิด ทั้งเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัวของจำเลยผู้เดียว แต่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

เมื่อคู่ความตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อเนื่องกันสามนัด ในวันที่ 2-4 ก.พ.59 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการสืบพยานโจทก์หนึ่งนัดครึ่ง และสืบพยานจำเลยอีกหนึ่งนัดครึ่ง

การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับฐานความผิดหมิ่นประมาท

คดีของไมตรี อาจพอเทียบเคียงได้กับคดีของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ที่ศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา โดยคดีนี้มีกองทัพเรือเป็นผู้กล่าวหา จากกรณีที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากรายงานข่าวของรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา กองทัพเรือเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14

ต่อมา ศาลได้พิพากษายกฟ้อง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งระบุถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 (ดูรายละเอียดคดีภูเก็ตหวานของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยไอลอว์)

คดีภูเก็ตหวานถือเป็นคดีแรกๆ ที่ศาลมีการพิเคราะห์เรื่องเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยผู้ร่างกฎหมาย เคยระบุถึงเจตนารมณ์ของมาตรานี้เอาไว้แล้วว่ามิได้ต้องการให้ใช้กับเนื้อหาการแสดงออกใดๆ แต่มีเพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

หากแต่ตั้งแต่ใช้กฎหมายฉบับนี้ มาตรา 14 (1) ก็ถูกใช้กล่าวหาในเรื่องเนื้อหาหมิ่นประมาทจำนวนมาก มิหนำซ้ำมาตรานี้ยังกำหนดโทษที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา และยังเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ต่างจากคดีหมิ่นประมาท ที่เป็นความผิดส่วนตัว สามารถยอมความได้ รวมทั้งไม่มีการกำหนดข้อยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ เช่น กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เอาไว้ด้วย ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในลักษณะนี้เรื่อยมา*

เช่นเดียวกับในคดีไมตรีนี้ ที่มีการนำมาตรา 14 (1) มาใช้กล่าวหาประชาชนในเรื่องเนื้อหาออนไลน์อีกครั้ง และยังมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาเองโดยตรง จึงน่าติดตามการต่อสู้คดี การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล และผลของคำพิพากษาว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร

 

* ดูประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติมในรายงาน “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ยาแรงผิดขนานสำหรับการหมิ่นประมาทออนไลน์” โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือในบทความ “‘พัฒนาการ’ ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” โดยสฤณี อาชวานันทกุล

ใส่ความเห็น