แถลงการณ์ เรื่อง การออกหมายเรียกนักวิชาการข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

academic

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกกลุ่มนักวิชาการจำนวนหกคน ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย โดยในหมายเรียกดังกล่าวได้ตั้งข้อหาว่ากลุ่มนักวิชาการได้ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เนื่องจากนักวิชาการดังกล่าวจัดกิจกรรมแถลงความเห็นทางวิชาการต่อสาธารณะ เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่าการแถลงความเห็นทางวิชาการเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการอันชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและชอบด้วยกฎหมายดังต่อไปนี้

1. การจัดแถลงความคิดเห็นต่อสาธารณะของกลุ่มนักวิชาการ เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะและเป็นภารกิจโดยตรงของนักวิชาการมหาวิทยาลัย ถือเป็นการใช้เสรีภาพในทางวิชาการซึ่งได้มีการบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มาตรา 42 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 42 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 50 และแม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ออกมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เอง ก็ได้รับรองเสรีภาพนี้ไว้โดยปริยายในมาตรา 4 และมาตรา 5 ดังนั้น กระทำของกลุ่มนักวิชาการจึงเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญให้กระทำได้

2. ข้อหาที่ปรากฏในหมายเรียก ตรงกับความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” ซึ่งตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารนั้น ไม่อาจปรับใช้กับการจัดแถลงความคิดเห็นต่อสาธารณะของกลุ่มนักวิชาการในครั้งนี้ได้ เนื่องจากการกระทำนี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อหาดังกล่าว เพราะกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่ว ๆ ไป ที่ถือเป็นธรรมเนียมและเป็นภารกิจที่สำคัญของนักวิชาการในสังคมไทย หากกิจกรรมเช่นนี้ถูกตีความตามอำเภอใจได้ว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากที่มีขึ้นเพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การเสวนาวิชาการ การประชุมวิชาการ การปาฐกถาทางวิชาการ การนำเสนองานวิจัย การอบรมให้ความรู้ต่อชุมชนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน หากเป็นเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ จึงไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายดังกล่าวขึ้น ประกอบกับการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในทางวิชาการไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบันยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำของกลุ่มนักวิชาการในการแสดงออกต่อสาธารณะครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้าย มีข้อเสนอและเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอเป็นกำลังใจให้กลุ่มนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีในครั้งนี้และนักวิชาการทุกท่าน ให้ยืนหยัดใช้เสรีภาพทางวิชาการทำหน้าที่ที่มีเกียรติในฐานะปัญญาชนสาธารณะด้วยความกล้าหาญต่อไป

2. ขอเรียกร้องให้ คสช. รัฐบาล กองทัพ และตำรวจ ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ คุกคามนักวิชาการ โดยการยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่มนักวิชาการที่ได้เสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่านอย่างสุจริตและกล้าหาญ

3. ขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันเรียกร้อง ให้ คสช. รัฐบาล กองทัพและตำรวจ เคารพในสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการ โดยยุติการคุกคาม ข่มขู่นักวิชาการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปัญญาของสังคมอย่างสุจริต

ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ใส่ความเห็น