4 มี.ค. 2559 อัยการศาลทหารยื่นฟ้องนายฐนกร (สงวนนามสกุล) ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, 116 และม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ
ตามคำฟ้องของอัยการระบุว่า การกระทำความผิดของฐนกรแบ่งเป็น 3 การกระทำ ดังนี้
1) จำเลยกดถูกใจแฟนเพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ที่โพสต์ข้อความและรูปภาพเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักร
2) จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของจำเลย เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง ข้อความดังกล่าวเป็นไปในลักษณะประชดประชัน อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักร
3) จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ภาพบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีข้อความประกอบภาพสรุปความได้ว่าบุคคลตามภาพมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านั้นต่อประชาชนทั่วไป อันเป็นความเท็จ เพราะความจริงไม่ปรากฎหลักฐานการทุจริตแต่อย่างใด ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร
ต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 2559 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายฐนกรต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 900,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายฐนกร โดยกำหนดหลักทรัพย์ประกันจำนวน 500,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวน ทนายความได้เคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วสองครั้งโดยมีหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาทและ 900,000 บาท ตามลำดับ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรืออาจสร้างอุปสรรคหรือความเสียหายในการสอบสวน รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งที่ 3 นี้ ผู้ร้องได้อ้างเหตุผล 3 ประการ คือ
- กระบวนการกล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เป็นการกล่าวหาที่เกินเลยและเหมารวมการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ม.116 อันเป็นการทำลายระบบนิติรัฐและกระบวนยุติธรรมของไทยในระยะยาว
- การที่อัยการศาลทหารบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกดไลค์เฟซบุ๊กว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นั้นไม่ถือเป็น “การกระทำ” ที่เป็นการเผยแพร่หรือเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนในทางอาญาแต่อย่างใด และกฎหมายอาญานั้นต้องตีความโดยเคร่งครัด ในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำ มิใช่ในด้านเป็นโทษแก่ผู้กระทำ ในส่วนประมวลกฎหมายอาญา ม.116 นั้นผู้กล่าวหาได้กล่าวหาเกินจริงและเกินไปกว่าการกระทำของจำเลย
- จำเลยเป็นเสาหลักของบ้านเพียงคนเดียวของครอบครัวในการหาเลี้ยงดูบิดามารดา และส่งเสียน้องสาวที่กำลังศึกษาอยู่ หากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ครอบครัวของจำเลยย่อมได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินมาใช้จ่ายเยียวยาครอบครัว
นอกจากนี้คดีอาจต้องใช้เวลานานในการพิจารณาคดี ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลทหาร จึงขออนุญาตให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวฐนกร เพื่อให้เขาได้มีโอกาสสู้คดีได้อย่างเต็มที่และมีโอกาสทำหน้าที่ลูกชายที่ดีอันเป็นเสาหลักของครอบครัวต่อไป
ทั้งนี้นายฐนกรถูกควบคุมตัวในวันที่ 8 ธ.ค. 2558 โดยในระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค. 2558 ญาติและทนายความได้ตามหาตัวเขาทั้งที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและกองกำกับการ 2 กองปราบฯ แต่ไม่พบตัวนายฐนกรและไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด กระทั่งถูกนำตัวมาฝากขังครั้งแรกที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ในการฝากขังทุกครั้งทนายได้พยายามยื่นประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต
ต่อมาทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลทหารกลางในวันที่ 6 ม.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนมายื่นฝากขังครั้งที่ 3 ต่อศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารกลางยกอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่าศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวในระยะฝากขังครั้งที่ 1 แต่ทนายความยื่นอุทธรณ์หลังศาลฝากขังครั้งที่ 3 แล้ว นอกจากนี้ยังมีการยื่นคัดค้านฝากขังหลายครั้ง แต่ศาลได้ยกคำร้องคัดค้านของทนายความทุกครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อัยการทหารยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง 3 กรรม
- ศาลยกคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 6 คดีฐนกรโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง
- พงส.แสดงหมายจับ พรบ.คอมฯ อีกข้อหา คดีเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง